เล่าปี่ถักหมวก.. .กับ Productivity ของผู้บริหาร
 
  เมื่อได้อ่าน “Double Your Productivity” ของ Brian Tracy แล้ว ทำให้นึกถึงสามก๊กบางสำนวนเล่าว่า เล่าปี่ถักหมวกด้วยขนจามรีให้ขงเบ้งเพื่อใช้ในเวลาออกตรวจทหารฝึกกลางแดด หวังเอาใจขงเบ้งและให้เห็นว่าตนเองมีความรักและห่วงใย เพราะดูว่ากว่าจะเชิญมาทำราชการด้วยกันนั้น ยากเย็นแสนเข็ญ พอขงเบ้งเห็นเข้าก็โกรธ ดุไปว่า “ ไม่คิดการใหญ่แล้วหรือ ”

ิู่ 
  ไม่ว่าจะสำนวนใดก็ตาม เรื่องนี้สอนถึงเรื่อง ”Double Your Productivity” หรือการเพิ่มผลิตภาพ พูดให้ง่ายก็คือ การทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าด้วยเจ้านายที่ชอบทำงาน “ เสมียน ” ใส่ใจกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่เรื่องที่ “ สำคัญกลับโยนให้ลูกน้องทำ ?” ให้ความสำคัญแก่รายละเอียดผิดประเด็น ผิดลำดับความสำคัญก่อน - หลัง

  Brian Tracy เป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในชีวิต แม้จะผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นที่เหลวแหลกจนต้องออกจากโรงเรียน มารุ่งเอามากๆเมื่อตอนที่เริ่มชีวิตนักขาย และลงท้ายด้วยการเปิดบริษัท Brian Tracy International ของตนเอง ปัจจุบันเขานำเอาบทเรียนการบริหารชีวิตและการบริหารธุรกิจที่ได้จากประสบการณ์ตรงของตนเองเผยแพร่ทั้งในรูปของหนังสือ และการเดินทางบรรยายทั่วโลก

เพิ่ม Productivity หนึ่งใน Focal Point ของชีวิต

ในหนังสือ “Focal Point” Brian Tracy กล่าวถึงสิ่งที่อาจเป็นจุดหักเห จุดแตกหักหรือจุดยุทธศาสตร์ ในการทำงาน ซึ่ง Brian เสนอไว้มากมาย แต่ที่สำคัญ ที่น่าสนใจที่สุดคือการเพิ่ม Productivity

สำหรับคนที่เคยเรียนวิชาทั้งหลายในสาขา Management ก็คงทราบดีว่า ข้อใหญ่ใจความที่เป็นจุดหมายสูงสุดของวิชานี้คือ การเพิ่ม Productivity ให้กับองค์กร ทุกบท ทุกกลยุทธ์ ทุกโมเดล เป็นไปเพื่อทำให้องค์กรทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้คุ้มค่าและให้ได้ผลผลิตสูงสุด สุดแล้วแต่ว่าองค์กรนั้นจะมองว่าผลผลิตที่องค์กรต้องการคืออะไร

หนังสือ Management ทั่วไปบรรยายภาพรวมของวิธีการบริหารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพด้วยเนื้อหามากมาย อ่านจบแล้วก็ยังต้องหาวิธีการที่จะนำไปปฏิบัติให้เหมาะกับสภาพขององค์กรของตนเพื่อให้เป็นผลจริงๆ ซึ่ง Brian Tracy เห็นว่า การเพิ่มผลผลิตให้กับการทำงานใดๆ มีหลักง่ายๆเพียง 7 ประการ


  กฎง่ายๆ 7 ข้อในการเพิ่ม Productivity

  กฏข้อแรก และสำคัญที่สุดคือการรู้จักให้เวลากับกิจกรรมที่ High Value แม้จะเป็นกิจกรรมที่ทำเอาใจลูกน้องอย่างที่เล่าปี่ทำ แทนที่จะได้ใจลูกน้อง แต่กลับถูกดูแคลนว่าไม่คิด “ การใหญ่ ” แล้วจะฝากชีวิต ฝากความก้าวหน้าไว้ได้อย่างไร

  กฎข้อที่สอง ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ความถนัดเกิดจากการทำบ่อยๆ และสาเหตุที่ทำบ่อยๆก็เพราะชอบหรือทำใจให้ชอบด้วยทัศนคติเชิงบวก ทำให้อย่างเพลิดเพลิน ยิ่งทำยิ่งแตกฉาน ยิ่งทำยิ่งคล่อง ประสิทธิภาพการทำงานจึงสูงกว่างานที่ฝืนใจทำ การค้นหาความสามารถหลัก หรือ “Core Competency ” ของตัวเองให้พบให้ได้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 
กฎข้อที่สาม หาวิธีทำให้สิ่งที่ทำดูง่ายไม่ยุ่งยาก ซึ่งคนที่ทำงานมีประสิทธิภาพสูงจะมีความสามารถพิเศษในการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ซึ่งเป็นเทคนิคในการจูงใจให้ผู้อื่นทำตามได้มากขึ้น เพราะคนส่วนมาก --- “ ไม่ชอบของยากๆ ”

  กฎข้อที่สี่ มองงานเป็นกลุ่มๆ โดยงานในแต่ละกลุ่มงานเป็นงานที่มีลักษณะเหมือนกัน บางกระบวนการมีความซ้ำซ้อนกัน สามารถทำร่วมกันได้ ทำให้ทุ่นเวลาและประหยัดทรัพยากรในการทำงาน หรือสามารถใช้วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลจากหน่วยงานหนึ่งไปให้หน่วยงานอื่นๆที่มีลักษณะงานคล้ายๆกันใช้แก้ปัญหาเดียวกันพร้อมๆกันได้

  กฎข้อที่ห้า ทำสิ่งต่างๆ ให้เร็วขึ้น กระซับขึ้น สร้างความรู้สึก “ เร่งด่วน ”(Sense of Urgency) ให้มีอยู่ตลอดเวลา คนเหล่านี้จะเป็นคนที่เดินเร็ว คิดเร็ว อ่านเร็ว เข้าใจเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเอเชียส่วนใหญ่ยังขาดลักษณะนี้อยู่

  กฎข้อที่หก คือมุ่งมั่น ไม่วอกแวก มีสมาธิในการทำงาน ซึ่งสมาธิเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน และใครที่เริ่มฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะได้เปรียบกว่าคนที่เพิ่งมารู้ตัวและมาเริ่มฝึกในตอนโต ส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้มีสมาธิคือการค้นพบ “ ตนเอง ” ค้นพบ “ คุณค่า ” ความเป็นมนุษย์ของตนที่ไม่ผูกกับ “ ค่านิยมจอมปลอม ” ที่คนรอบข้างยัดเยียดให้จน “ วอกแวก ”

  กฎข้อสุดท้าย คือสามารถทำงานได้นานยาวกว่าคนอื่น มีความอดทนสูง ทุ่มเทได้มากกว่าคนอื่น เมื่อมี “ คุณค่า ” ประจำใจแล้ว สิ่งที่เหลือก็คือการ “ กระทำอย่างต่อเนื่องในทิศทางที่ตนเชื่อ ” และไม่หยุดทิ้งกลางคันจนกว่าจะสำเร็จ !

  ทำเรื่องยากให้ง่าย.....ทำได้ยากที่สุด


  จริงๆแล้ว Brian Tracy เองก็ยอมรับว่ากฎ7 ข้อแห่งการเพิ่ม Productivity ไม่ใช่ความรู้ใหม่ที่ไม่มีใครกล่าวถึงมาก่อน เขาเพียงแต่ทำให้พูดง่าย ฟังง่าย จดจำง่าย เท่านั้น แต่กลับมีคนไม่กี่คนที่ใช้กฎทั้ง 7 ข้อแล้วได้ผล

 แท้ที่จริง.....สิ่งที่จะทำให้กฎทั้ง 7 ข้อสร้าง Productivity ได้อย่างแท้จริง คือความพยายาม (Effort) และความมุ่งมั่น (Determination) ของแต่ละคนนั่นเอง  
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 มีนาคม 2549