THE TOYOTA WAY
แปลโดย :ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ตอนที่ 1 : คำนำ
THE TOYOTA WAY เป็นหนังสือ Best Seller ที่ได้รับการแปลถึง 14 ภาษาทั่วโลก เขียนโดย Dr. Jeffrey K. Liker ผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสำเร็จของ Toyota มานานถึง 20 ปี สาเหตุที่ทำให้ Dr. Liker มีโอกาสทำวิจัยชิ้นนี้มาจากศาสตราจารย์สองท่านของมหาวิทยาลัย Michigan ที่อยากรู้สาเหตุของการเสียส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์อเมริกันที่ลดน้อยลงเรื่อยๆให้แก่รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1982 ที่มีการกล่าวโทษสาเหตุที่อุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันถดถอยนั้นว่ามาจาก
“ความไม่เป็นธรรมทางด้านภาษี” ในใจพวกบริษัทรถยนต์เหล่านั้น (รวม Ford Motor , GM , Chrysler) ปักใจคิดอย่างเดียวว่า “ตราบใดที่ยังมีความไม่เป็นธรรมในการทำธุรกิจอยู่ .... ก็ไม่มีความจำเป็นที่พวกเขาต้องปฏิรูปแนวทางที่พวกเขาผลิตรถยนต์ และเชื่ออย่างแรงว่า—การใช้ช่องทางกดดันทางการเมืองจะช่วยแก้ปัญหาของพวกเขาให้ลุล่วงไปได้ !”
จากผลการวิจัยของ Dr. Liker ที่สามารถเข้าถึงแนวคิดปรัชญาและวิธีบริหารของผู้บริหารในบริษัทรถญี่ปุ่น โดยเฉพาะ Toyota ที่ถูกถ่ายทอดลงสู่กระบวนวิธีการในการทำงานของพนักงานทุกระดับอย่างเป็นรูปธรรม พวกบริษัทรถอเมริกันเหล่านั้นถึงได้เริ่มเห็นและเข้าใจว่าสาเหตุที่แท้จริงของพวกเขานั้นอยู่ที่ “คุณภาพ—และ—ประสิทธิภาพ” มากกว่าเรื่องของ “ความไม่เป็นธรรมทางภาษี” อย่างที่เคยคิด !
Dr. Liker
 
แต่กว่าที่พวกเขาจะยอมรับความจริง นั่นก็เป็นปี 1990 เข้าไปแล้ว !
สิ่งที่ Dr. Liker พบที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้แต่ในหมู่บริษัทรถญี่ปุ่นกันเอง Toyota ก็ยังมีวิธีที่โดดเด่นกว่า Mazda , Nissan โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันกับผู้จัดส่งชิ้นส่วนของ Toyota
Gary Convis ซึ่งเป็นประธานบริษัท Toyota Motor Manufacturing , รัฐ Kentucky
, อเมริกา ได้กล่าวถึงผลของการนำการบริหารแบบ Toyota ไว้ดังนี้ “ สำหรับที่โรงงาน NUMMI (New United Motor Manufacturing) ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่าง Toyota และ GM ในเมือง Fremont รัฐ California นั้น ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของพนักงานกลุ่มหนึ่ง ....จากที่เคยเป็นพนักงานที่แย่ที่สุด ....กลายมาเป็นพนักงานที่ดีที่สุดในสายการผลิตในอเมริกา สิ่งที่สร้างความแตกต่างนั้นคือ “วิถีแห่ง Toyota”
“วิถีแห่ง Toyota” เป็นวิถีขั้นมูลฐานที่ Toyota มองโลกของตนเองอย่าง-ตรงๆและใช้มันในการทำธุรกิจอย่าง-จริงๆ
“วิถีแห่ง Toyota” ก่อกำเนิดมาจากผู้ก่อตั้งบริษัทและถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้นประกอบไปด้วยหลักสำคัญ 2 ประการ :
1-“การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Kaizen)”
2-“การเอาใจใส่และการเคารพความคิดเห็นของบุคลากร”
หลักการ 2 ข้อนี้แหละที่เป็นเสมือนภูมิต้านทานที่ดีเยี่ยมที่ทำให้ Toyota สามารถเผชิญความท้าทายนานาประการได้และไม่ใช่เป็นจริงเฉพาะกับชาวญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น คนงานอเมริกันที่ทำงานในโรงงานของ Toyota ก็จะต้องซึมซับเอา 2 หลักการนี้จนเข้าไปในสายเลือด เข้าไปใน DNA เลยทีเดียว ซึ่งก็ได้ผล ....คือความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคนงานอเมริกันที่อยู่ในโรงงานบริษัทรถอเมริกันอื่นๆ!
ต้นทศวรรษ 1990 บริษัทรถอเมริกันต่างยึดเอา “คุณภาพในการจัดการอย่าง Toyota” เป็น “ต้นแบบ” เป็น “Benchmark” ที่พวกเขาต้องการเอาชนะ
ผลงานวิจัยของ Dr. Liker เกิดขึ้นมาจากการเยี่ยมชมองค์กรในประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นในเครือของ Toyota ประมาณ 30 แห่ง และจากการพูดคุยส่วนตัวกับผู้ที่ตีพิมพ์เอกสารภายในของ Toyota เมื่อครั้งที่ Toyota ต้องการขยายกิจการไปทั่วโลกโดยที่ต้องการ “คงไว้ซึ่ง DNA ดั้งเดิมของ Toyota ไว้ทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลก ไม่ว่าผลิตโดยคนเชื้อชาติใดก็ตาม (สุดยอดไหมครับ !!!)
เมื่อถูกถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ Toyota เป็นเลิศอย่างที่เป็นอยู่ ?
คำตอบกลับแสนที่จะเรียบง่ายว่า :
“ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ -วิถีแห่ง Toyota และทำให้ Toyota ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นนั้น ....มิใช่มาจากผลขององค์กรส่วนหนึ่งส่วนใดเท่านั้น ....แต่มาจากการทำให้ทุกๆส่วนภายในองค์กร และผู้เกี่ยวข้องภายนอกทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งลักษณะการทำงานเช่นนี้จะต้องมาจากการฝึกฝนทุกวันๆ ปฏิบัติการทำงานเป็นทีมจนเป็นนิสัยสม่ำเสมอ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มิใช่การทำเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น !”
Dr. Liker ได้รวบยอด “วิถีแห่ง Toyota” เป็นหลักใหญ่ๆ 4 ข้อดังนี้ :
1-Long Term Philosophy หรือ-“ปรัชญาในระยะยาว”
Toyota ให้ความสำคัญกับการคิดหวังผลต่อตนเองในระยะยาว ไม่ใจร้อน
โดยการเน้นความสำคัญเบื้องต้นที่ผลประโยชน์ของ “ลูกค้า—และ—สังคม” ที่ต้องมาก่อนเสมอ สิ่งนี้เป็นแรงขับดันให้องค์กรต้องปรับตัวให้เข้ากับ “ความต้องการคุณภาพของลูกค้า” และ “สังคมที่ยั่งยืน” ทั้งนี้เพราะ Toyota มองว่า ....หากปราศจาก 2 ปัจจัยนี้เสียแล้ว Toyota ก็อยู่ไม่ได้ ! เมื่อเป็นดังนี้ Toyota จะต้องลงทุนในการเก็บข้อมูลวิจัย พร้อมทั้งปรับปรุงให้เป็นองค์กรเรียนรู้ รวมไปถึงการวางแผนระยะยาวสำหรับพนักงานในฐานะที่เป็นแหล่งสะสมการเรียนรู้ !
 
2-The Right Process Will Produce the Right Resultsหรือ-“กระบวนการที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง”
Toyota ยึดถือกระบวนการเป็นสิ่งสำคัญ พวกเขาจะต้องรู้ให้ได้ว่ามีวิธีใดอีกที่จะทำให้การผลิต “ดีขึ้น” กว่าเดิม และคำว่า “ดีขึ้น” นั้นจะต้องหมายถึง “คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น” “ความปลอดภัยที่สูงขึ้น” “ต้นทุนที่ต่ำลง”
“ความรักองค์กรหรือขวัญกำลังใจของพนักงานที่สูงขึ้น” “ความพอใจของลูกค้าสูงขึ้น” ทุกข้อจะต้องไปพร้อมๆกัน นี่คือ DNA ที่เหล่าผู้จัดการเชื่อเต็มหัวใจว่ากระบวนการเหล่านี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่พวกเขาปรารถนา !
3-Add Value to the Organization by Developing Your People and Partners หรือ-“เพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กรโดยการพัฒนาบุคลากรและพันธมิตรของคุณ”
“วิถีแห่ง Toyota” ครอบคลุมถึงชุดเครื่องมือ (Manual & Helping Kit) ที่ได้รับการออกแบบสำหรับการสนับสนุน “บุคลากร” และ “คู่ค้า” เพื่อให้กระบวนการผลิตที่ต้องราบรื่นนั้น “ไหลลื่น” โดยไม่ติดขัดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง มิฉะนั้น การผลิตจะหยุดชะงัก
ดังนั้น พนักงานทุกคนจะต้องได้รับการปลูกฝัง “ความรู้สึกเร่งด่วน—Sense of Urgency”ในการแก้ปัญหาที่ตนพบเห็น ....โดยไม่ทำหูไปนา ....ตาไปไร่
   
4-Continuously Solving Root Problems Drives Organizational Learning หรือ –“การแก้ไขปัญหารากเหง้าต่างๆอย่างต่อเนื่องช่วยผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ขององค์กร”
แนวคิดที่สำคัญสูงสุดของ Toyota คือ “การบ่งชี้สาเหตุรากเหง้าของปัญหาและการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก”
“Toyota ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าทุกๆบริษัทจะต้องค้นหาวิถีของตนเอง แต่การทำความเข้าใจ “วิถีแห่ง Toyota” นั้นสามารถเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของบริษัทเหล่านั้นได้ !”
นั่นเป็นคำยืนยันจาก Dr. Liker

 
คราวหน้าเราจะไปผจญภัยด้วยกันโดยการเข้าไปค้นหาความหมายของ THE TOYOTA WAY กันนะครับ .
 
พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management