เครื่องมือการจัดการที่มีผลต่อความอยู่รอดขององค์กร
คำนำ
 
พศ. 2519
สมัยเป็นนิสิตวิศวฯ  บังเอิญสังคมที่ผมอยู่เป็นกลุ่มที่มีมุมมองของการเรียนที่เป็น “การศึกษา” มากกว่าเป็น “การเรียนให้ได้รับปริญญาเพียงเพื่อจะประกอบอาชีพ”
ดังนั้น  สิ่งที่ผมและเพื่อนๆในกลุ่มได้ร่วมกันทำกิจกรรมด้วยกันจึงเป็นการศึกษาสังคมควบคู่ไปกับการศึกษาวิชาการไปพร้อมๆกัน ห้องเรียนของพวกเราจะไม่ใช่จำกัดอยู่แต่ในคณะวิศวฯ 
หากแต่จะอยู่ในสังคมเปิดทั่วไปที่เราอยากจะรู้ความเป็นไปที่ไม่มีในห้องเรียน  พวกเราไปปลูกป่า  สร้างสะพานต่างจังหวัด พวกเราไปชนบทห่างไกลที่เราอยากเห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  ไปอยู่ร่วมกับเขาอย่างใกล้ชิด 
พวกเราอยากรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ทำไมจึงคิดอย่างนั้ พวกเรายังไปรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆในมหาวิทยาลัยอื่นๆ  โดยเฉพาะ ....ธรรมศาสตร์  ที่เราไปกันบ่อยที่สุด !
ในสมองของพวกเราจึงเต็มไปด้วยความกระหายอยากรู้ไปทุกด้าน  ไม่ว่า Humanity, Social , หรือแม้กระทั่ง Economy คำถามแปลกๆอย่างเช่น :
 
อะไรทำให้นิสิตจุฬาจำนวนมากถูกมองว่าเป็นพวกนิยมระบบ “ศักดินา” คิดแต่เรื่องสนุกสนาน เฮฮาของตนเอง  ไม่สนใจโลกภายนอก  ในขณะที่นักศึกษาธรรมศาสตร์มีภาพของนักพัฒนาสังคม ?
อะไรทำให้คนประเทศต่างๆมีความเจริญทั้งในด้านเศรษฐกิจ  สังคมแตกต่างกัน  และช่องว่างของความเจริญนั้นๆก็ยังห่างไกลกันมาก และยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งหนีห่างออกไปเพราะ Speed ของการก้าวหน้าเทียบกันไม่ติด?
 ณ จุดนั้น  เราเริ่ม “เห็น” แล้วว่า  “ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆอย่างไร ?”
เราเริ่ม “เห็น” แล้วว่า  “ความคิดของคนในสังคมไทยมีผลต่อประสิทธิภาพของส่วนรวมอย่างไร ?”
ในเวลานั้นพวกเรารู้สึก “อึดอัด” กับสิ่งที่ได้ “เห็น”
ในเวลานั้นพวกเรารู้สึก “อึดอัด” กับเพื่อนๆส่วนใหญ่ที่ “ทำเป็นไม่เห็น” ทั้งๆที่พวกเขามีศักยภาพพร้อมทุกด้าน  แต่ใช้มันแค่ครึ่งเดียวเพื่อตนเอง  ปล่อยส่วนที่เหลือให้สูญเปล่า ในเวลานั้นพวกเรารู้สึก “กลัว” ที่จะได้เห็นอนาคตที่มืดมนของประเทศ  ซึ่งจะส่งผลมาที่พวกเรา !
 
พวกเราพบความจริงข้อหนึ่งว่า :ปัจเจกไม่สามารถแยกออกจากสังคม และสังคมก็ไม่สามารถแยกออกจากปัจเจก  ปัจเจกเป็นอย่างไร  สังคมก็เป็นอย่างนั้น ในขณะเดียวกัน  สังคมเป็นอย่างไร  ปัจเจกรุ่นใหม่ก็จะถูกหล่อหลอมให้เป็นอย่างนั้น สังคมที่ถูกครอบงำด้วยสิ่งไร้สาระมากๆ  จนบั่นทอนความกล้าคิด  กล้าฝัน  ยึดติดอยู่กับรูปแบบพิธีการเกินไปจนบั่นทอนศักยภาพที่แท้จริงของคน
ทุกคนทุกวัยได้รับการปลูกฝังสิ่งไร้เหตุผลจนหยั่งรากลึกไปสู่คนรุ่นใหม่จนยากที่จะฟื้นคืนกลับมา!
คำถามคือ : เราควรจะปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ ....หรือเราควรจะเปลี่ยนแปลงมัน ? ณ เวลานั้น สิ่งที่พวกเราได้สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากนอกห้องเรียนคือ :
 
1-สังคมประกอบด้วยช่องว่างระหว่างคนหลากหลายชนชั้น  หลากหลายพื้นเพมากเกินไป
และเนื่องจากส่วนใหญ่ขาดการศึกษา  ผู้ปกครองจึงถูกเลือกมาจากคนที่ขาดการศึกษา  “รัฐ--ที่เป็นคนไร้คุณภาพที่มาจากคนไร้การศึกษา” จึงขาดวิสัยทัศน์ต่อเป้าหมายระยะยาว  สังคมโดยรวมจึงขาดปัจจัยที่จำเป็นเช่น “นโยบาย” และ “พลเมือง”ที่มีคุณภาพที่จะสามารถเข้าใจวิธีอยู่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ (มีแต่คนทวงถาม “สิทธิ” แต่ตนเองไม่ยอมทำ“หน้าที่” ) สิ่งที่ปรากฏอย่างจำเจคือ  ต่อหน้าผู้คนอาจดูเหมือนจะรู้ว่าสิ่งที่ถูกคืออะไร  แต่ลับหลังสิ่งที่ทำกลับตรงกันข้ามจน สังคมขาดสิ่งที่ –เชื่อมั่นได้  เหมือน— Iceberg ที่ลอยเหนือทะเลนิดเดียว—แต่ความน่ากลัวที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำนั้นใหญ่มหึมาเหมือนโรคร้ายที่รังแต่จะกัดกร่อนสังคม  --
“โรคสมอง”นี้มองไม่เห็น  แต่ทุกคนรู้ว่ามันมีจริง !  ต่อหน้าบอก “Yes , I will do.” แต่ลับหลัง ‘Why bother !” สังคมขาดระเบียบวินัย  ขาดคุณค่าร่วมที่จำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ส่วนใหญ่จึงยึดวัฒนธรรมศรีธนชัยที่นิยมให้เป็น Hero ว่า “เอาตัวรอดวันนี้ไปก่อน  พรุ่งนี้ค่อยมาคิดใหม่” ความกลัวแย่งไม่ทันคนอื่นนี้จึงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ให้เกิดความไร้ระเบียบแบบลูกโซ่ (Chain Reaction)กระทบเป็นวงกว้างในทุกๆด้าน--การเมือง  การปกครอง  การศึกษาที่ขาดยุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับคนรุ่นหลัง  จนสังคมเสื่อมลงๆ  ความสามารถในการแข่งขันจึงยิ่งถดถอยลงๆอย่างรวดเร็วพร้อมๆกับคุณภาพของคน
2-การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นตอ : การศึกษา
 
นั่นเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวของพวกเรา  ขณะที่อยู่ในวัย 19 ปี ....
 
 
คุณภาพของคนและการศึกษาคือคำตอบของทุกสิ่ง !!!!
..............................................
พศ. 2550

 

เมื่อเร็วๆนี้  มีผู้เรียกร้องให้ผมเขียนบทความเกี่ยวกับ Balanced  Scorecard ก่อนหน้านี้ผมเองไม่เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับมันมาก่อน  เคยแต่ได้ยินบ่อยๆเวลาไปสัมมนาวิชาการต่างๆเกี่ยวกับงานคุณภาพ  ทุกๆที่ก็พูดถึงมัน  พอๆกันนั้นผมก็ได้ยินคนพูดถึง Six-Sigma
ผมขอสารภาพว่าเป็นคนที่ป่วยด้วยโรค  New Technique Sickness หรือแปลเป็นไทยว่า  “โรคเบื่อวิชาการหรูๆ--ชื่อเท่ๆ” ผมเคยเชื่อในเรื่องของ –ความรับผิดชอบในหน้าที่ส่วนตน  ว่า
หากทุกคนทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์แล้ว  สังคมก็จะดีเอง ....
ถ้าทุกคนทำตามคำสอนศาสนา  สังคมไม่ต้องมีกฎหมายก็อยู่ได้เอง ....
ถ้าทุกคนทำงานของตนให้เต็มความสามารถ  องค์กรก็อยู่ได้เอง !
 
ทำไมต้อง Balanced Scorecard ? ทำไมต้อง Six-Sigma ?
 

 

 
เคยแอบคิดไม่กล้าบอกใครว่า –คนที่คิด Technique ใหม่ๆเหล่านี้คงมีอาชีพในการหาของเล่นสำหรับการบริหารใหม่ๆ  ใส่ Packaging ให้น่าซื้อด้วยหลักการที่มีสูตรคณิตศาสตร์และตัวเลขเข้าไปเยอะๆให้น่าเชื่อถือ  พร้อมกับบรรยายสรรพคุณว่าสามารถแก้ไขโรคขององค์กรอย่างโน้นอย่างนี้  เพื่อให้ผู้บริหารทั่วโลกซื้อตำรา  ซื้อหลักสูตรที่เขาจะเป็นผู้ขาย  เป็นผู้ดำเนินการอบรมรักษา “โรค” ที่ตรงกับสรรพคุณของยา (คงคล้ายๆกับที่มีหลายสิบบริษัทที่ซื้อบริการทำ Re-engineering จากฝรั่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อนราคา  Course ละหลายๆล้านบาท  แต่ผลคือประสบความสำเร็จแค่ธนาคารกสิกรไทย พร้อมๆกับคำเย้ยของสังคมที่มีต่อบริษัทที่เสียเงินเปล่าเหล่านั้นว่า –ตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร  แกล้งทำเป็นไม่รู้  ต้องให้ฝรั่งมาบอกถึงยอมรับ  แต่ความจริงคือในใจตนเองของผู้บริหารนั้นรู้ปัญหา  แต่ขาดความเป็น “ผู้นำ” ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน  เพราะตนเองถูกวัฒนธรรมขององค์กรกลืนมานานเกินไปนั่นเอง จะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ไม่กล้า เพราะเกรงใจกันเองประสา “ไทยๆ”  แต่อ้างว่าฝรั่งวิจัยมาว่าให้ทำอย่างนั้นๆมันมีน้ำหนักและดูดีกว่า  !)
ในเมื่อผมเชื่อมั่นใน “การเรียนรู้” มาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิต  แล้วมีผู้เรียกร้องให้ผมเขียนบทความเกี่ยวกับ Balanced Scorecard (ต่อจากนี้จะเรียกย่อว่า BSC)ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  ผมจึงไม่สามารถปฏิเสธได้
ผมยืมหนังสือเกี่ยวกับมันมา 3 เล่ม :
1-Balanced Scorecard :รู้ลึกในการปฏิบัติ เขียนโดย ผศ.ดร.พสุ  เดชะรินทร์       คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
2-เขย่า Balanced Scorecard เขียนโดย ดร.วีระเดช  เชื้อนาม
 
 
3-Focusing Your Organization on Strategy with the Balanced Scorecard  เขียนโดย  Robert S. Kaplan and David P. Norton
Robert S. Kaplan  

 

หลังจากอ่านจบทั้งหมดภายใน 3 อาทิตย์ ผมก็รู้สึกว่าผมต้องอ่านเพิ่มอีกเรื่องหนึ่งคือ Six-Sigma เพราะบ่อยครั้งมันถูกอ้างถึงบ่อยๆใน 3 เล่มนั้น  ผมซื้อหนังสือจากสถาบันเพิ่มผลผลิตมาเล่มหนึ่ง—ชื่อว่า Linking Customer and Employee Satisfaction to the Bottom Line เพราะอ่านแล้วเข้าใจง่ายโดยเฉพาะหลักการของ Six-Sigma
David P. Norton

 

 
 หลังจากอ่านจบทั้งหมด  ผมมีความรุ้สึกดังนี้ :
1-BSC และ Six-Sigma ไม่เหมาะกับคนไทย (จากสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับ “สังคมไทยที่วันนี้ยังเหมือนปี 2519 ทุกอย่าง” และข้อพิสูจน์จากเหตุการณ์มากมายที่สรุปเป็น “กฎ” ได้ว่า “ระบบศักดินา” แปรผกผันกับ “ประสิทธิภาพ”)  การนำสองเครื่องมือมาใช้จึงมีโอกาสที่จะสำเร็จน้อยมาก

2-ทั้งสองแนวคิดเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยง “กลยุทธ” ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งหากปราศจากการ เห็นชอบอย่างเต็มที่จนถึงระดับ “กระหายอยาก”และสนับสนุนจากผู้นำในทุกระดับอย่างเต็มที่แล้ว โอกาสล้มเหลวมีมากกว่า 90%
3-หากผู้บริหารทุกระดับ—ไม่เข้าใจแนวคิดที่แท้จริงของทั้งสองเครื่องมือ  แล้ว “ยืมชื่อเลือกเพียงบางเสี้ยว”นำไปใช้--เพียงเพื่อจะประเมินผลการทำงานของพนักงานเท่านั้นแล้วละก็  โอกาสล้มเหลวก็จะเป็น 100% เพราะจะเกิดการเสียขวัญจากพนักงานทั้งต่อหน้าและลับหลังซึ่งจะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพติดลบไปกันใหญ่ เพราะ Trust ในองค์กรล้มครืน !
4-เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่ “ความจริงใจของผู้บริหาร” และ “การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพใน
การร่วมรับผิดชอบต่ออนาคตขององค์กรจากทุกๆคน และในการยอมทุ่มเทแรงกายและใจให้แก่ขั้นตอนระหว่างทำ BSC , Six-Sigma ที่ต้องมีการสื่อสารกันอย่างจริงใจ  อย่างเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน และอย่างต่อเนื่อง  ”
5-หากไม่มี “วิธีคิดและวิธีทำงานร่วมกันภายใน Network” ทีราบรื่น  และ “ความอดทนในการรอ” แล้วละก็  ผลที่ได้คือความล้มเหลว ! ผลที่วัดได้ในแต่ละปี –มีความสำคัญน้อยกว่า “การพัฒนาวิธีคิดและวิธีทำงานร่วมกันภายใน Network ที่ดีขึ้นๆจากการเรียนรู้ (Learning and Growth)” ในระหว่างทาง
“How to do it better” outweighs “What we’d get”
 
ดังนั้น  ผมจะขอเปลี่ยนโจทย์ใหม่ไปเป็นหัวข้อว่า “เครื่องมือการจัดการที่มีผลต่อความอยู่รอดขององค์กร” ซึ่งจะประกอบด้วย BSC และ Six-Sigma วัตถุประสงค์ที่เขียนเพียงเพื่อจะถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่านที่บังเอิญสอดคล้องกับเป้าหมายของ TQM ใน Web-QC เท่านั้น  ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากนี้ !
 
ตอนหน้าผมจะเริ่มที่ BSC ก่อนว่ามันคืออะไร  ประกอบไปด้วยอะไร  ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆแต่มีสาระครบถ้วนตามสไตล์ที่ผมถนัดครับ !
  
 
พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management