ไทยศิลป์'เจ๊ง สั่งปิดรง.วันนี้ [20 ก.ค. 50 - 04:14]
 
จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ : 20-Jul-07
 
กรณีบริษัทไทยศิลป์อาคเนย์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ตั้งอยู่ในซอยกิ่งแก้ว 38 ถนนกิ่งแก้ว-ลาดกระบัง ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ทำกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าชุดกีฬาส่งออกให้กับแบรนด์ดังๆ หลายยี่ห้อ อาทิ ไนกี้ และอาดิดาส ประกาศปิดกิจการเอาดื้อๆ

 

เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา อ้างว่าประสบภาวะขาดทุนจากพิษเงินบาทแข็งค่าและลูกค้าระงับออเดอร์โดยไม่แจ้งล่วงหน้าให้ พนักงานทราบ ทำให้พนักงานกว่า 5,000 คน ออกมารวมตัวปิดถนนกิ่งแก้ว-ลาดกระบัง ชุมนุมประท้วง ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าเจรจารับปากจะหาออเดอร์และแหล่งเงินกู้เพื่อช่วยฟื้นฟูกิจการ ทำให้ผู้ประกอบการยอมเปิดโรงงานรับคนงานเข้าทำงานอีกครั้ง ล่าสุดผู้ประกอบการประกาศสั่งปิดโรงงานอีกครั้ง โดยอ้างว่าขาดสภาพคล่องไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาดำเนินกิจการต่อไปได้ 
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 19 ก.ค. ที่โรงงานบริษัท ไทยศิลป์อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จำกัด นายพิพรรษ กุลโอภาส เจ้าของโรงงานบริษัทไทยศิลป์ฯ พร้อมนายศักดิ์ดา เทพเจริญนิรันดร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ได้เรียกพนักงานทั้งหมด 4,000 คน ในจำนวนนี้มีพนักงานโรงงานไทยศิลป์ฯ สาขาสำโรง และสาขาบางปลารวมอยู่ด้วย ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารด้านหลังโรงงาน โดยนายพิพรรษกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยน้ำเสียงสั่นเครือแจ้งให้พนักงานทราบว่าที่ผ่านมาโรงงานประสบปัญหาขาดทุน ไม่มีแหล่งเงินกู้
 
จึงขอประกาศปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยจะจ่ายเงินที่ทำงานมาแล้ว 19 วันให้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างผ่านทางไทยธนาคารในวันจันทร์ที่ 23 ก.ค.นี้ เนื่องจากไม่มีเงิน ส่วนเงินชดเชยจะจ่ายให้ภายหลัง โดยจะนำเครื่องจักรของโรงงานออกประมูลขาย และนำเงินมาจ่ายพนักงานในทันที
สิ้นเสียงประกาศ ปรากฏว่าพนักงานทั้งหมดส่งเสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอใจ แม้ว่านายศักดิ์ดา เทพเจริญนิรันดร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ จะประกาศยืนยันด้วยว่า ขณะนี้มีตำแหน่งรองรับแล้วถึง 6,000 ตำแหน่ง
แต่พนักงานยังไม่พอใจ เพราะไม่แน่ใจว่าทางโรงงานจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามที่รับปาก พร้อมสลับสับเปลี่ยนขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีอย่างรุนแรง เรียกร้องให้ทางโรงงานจ่ายค่าจ้างทั้งหมดในทันที การชุมนุมประท้วงดำเนินไปจนถึงค่ำยังไม่มีเหตุการณ์ อะไรรุนแรง ในขณะที่กำลังตำรวจหน่วยปราบจลาจลกว่า 200 นาย เตรียมพร้อมอยู่บริเวณข้างโรงงานเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานเคลื่อนตัวออกมาปิดถนน
ทางด้านนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นที่แน่นอนแล้วว่าโรงงานไทยศิลป์ฯจะต้องปิดกิจการลงในวันที่ 20 ก.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง 50 ล้านบาท ดังนั้น จะทำให้มีคนงานที่เหลือตกค้างอีก 3,000 คน ต้องตกงานลงทันที โดยในวันที่ 20 ก.ค. กระทรวงอุตสาหกรรมรับแจ้งจากสมาคมสิ่งทอ สหพันธ์สิ่งทอแห่งประเทศไทย สมาคมฟอกย้อม จะไปตั้งโต๊ะรับพนักงานทั้งหมดให้ไปทำงานต่อได้ทันที ตั้งวันที่ 23 ก.ค. เป็นต้นไป

 

สำหรับค่าจ้างที่บริษัทไทยศิลป์ฯยังติดค้างคนงานอีก 3,000 คน จะประสานกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อหาเงินกู้เร่งด่วนให้บริษัทไทยศิลป์ฯนำไปจ่ายค่าจ้างโดยเร็วที่สุด ในส่วนของคนงาน 2,000 คน ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้มีงานทำหมดแล้ว
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งทอ กล่าวว่า สถาบันฯจะประสานกับภาคเอกชนด้านสิ่งทอให้รับคนงาน 3,000 คนไปทำงานทั้งหมด แต่หากเป็นคนงานที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป สถาบันฯจะขอรับตัวไปฝึกอบรมทักษะแรงงานให้ใหม่ โดยจะเน้นไปในกลุ่มงานที่ไม่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้เพิ่มมากขึ้น 
มีรายงานว่าสำหรับสาเหตุที่บริษัทไทยศิลป์ฯ ต้องปิดกิจการลงในครั้งนี้ เกิดจากการขาดสภาพคล่องทางการเงินตั้งแต่ปี 2549 หลังจากที่บริษัทอาดิดาส จำกัด จากสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าเสื้อผ้ากีฬา ชุดกีฬา จากไทยศิลป์ฯ เมื่อเดือน พ.ค.2549 สาเหตุเกิดจากอาดิดาส ตรวจสอบพบว่าเมื่อเดือน ก.พ.2549 เกิดอุบัติเหตุในกระบวนการผลิตของบริษัทไทยศิลป์ฯ ทำให้คนงานได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในหลักการแล้วบริษัทไทยศิลป์ฯ จะต้องรายงานให้อาดิดาสที่สหรัฐฯรับทราบ เพราะอาดิดาส ถือเป็นบริษัทที่เน้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมตามมาตรฐานสากล  
หากไม่มีมาตรฐานในเรื่องนี้อาจถูกลูกค้าจากทั่วโลกปฏิเสธการซื้อสินค้า ทำให้อาดิดาสไม่พอใจบริษัทไทยศิลป์ฯเป็นอย่างมาก ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้อาดิดาสเคยทำหนังสือเตือนผู้บริหารของบริษัทไทยศิลป์ฯ ให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงงานและกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน แต่ บริษัทไทยศิลป์ฯเพิกเฉยในเรื่องนี้มาโดยตลอด
 
คนงานแฉ เหตุปิดไทยศิลป์ นายจ้างเชื่อเป็นร่างทรง!
จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ : 30-Jul-07
 คนงานไทยศิลป์ฯ แฉนายจ้างเชื่อเป็นร่างทรงเจ้าแม่กวนอิม สงสัยเป็นต้นเหตุปิดกิจการ
นายบุญลือ ยอดบุญ แกนนำกลุ่มพนักงาน บริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า นางเยาวลักษ์ อุนโอภาส เจ้าของโรงงานไทยศิลป์ฯ มีความเชื่อคนทรงเจ้า โดยได้ไปนับถือร่างทรง คนหนึ่งที่ จ.ราชบุรี ชื่อ “พ่อแก่” ถึงกับยอมจ่ายเงินเดือนให้กับร่างทรงคนดังกล่าวเดือนละ 5 หมื่นบาท
 
นายบุญลือ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นนางเยาวลักษณ์ยังเคยตัดชุดเจ้าแม่กวนอิมอย่างสวยหรูราคานับล้านบาท เพื่อนำมาแต่งและเดินรอบโรงงานเป็นประจำ
 
“หากพบพนักงานคนใดทำผิดจะให้พนักงานสาบานว่าต่อไปจะไม่กระทำผิดอีก หากใครทำผิดซ้ำจะไม่เรียกร้องค่าชดเชย โดยให้สาบานกับพ่อแก่ และหากพบว่าสินค้าตัวไหนขายไม่ออกก็จะยืนเป่าคาถาอาคม เพื่อให้ขายสินค้าดี” นายบุญลือ กล่าว
นอกจากนี้ คนงานรายนี้กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ทำงานมานาน 7 ปี ได้เห็นภาพเจ้านายเข้าทรงมาโดยตลอด หากงานตรงไหนมีปัญหาก็จะเชิญพ่อแก่มาทำพิธีปัดรังควาน หรือบางครั้งจะเข้าทรงเอง และจะนำลูกหลานมาเป็นพนักงานช่วยถือกระโถน และจะได้สิทธิ์ไม่ต้องทำงาน
 
นอกจากนางเยาวลักษณ์จะมีชุดเจ้าแม่กวนอิมแล้ว ยังมีชุดเจ้าแม่อุมาเทวี และมีเทพอีกหลายองค์ที่ประทับทรงของนางเยาวลักษ์ หากหัวหน้าแผนกทำผิดก็จะถูกจับไปสาบานตัวในห้องพ่อแก่ ให้พ่อแก่มาอบรมคนงาน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์คนงานประท้วงก็ไม่เคยเห็นร่างทรงคนนี้อีกเลย
 
นายบุญลือ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ตัวแทนพนักงานพยายามรวบรวมทรัพย์สินภายในโรงงานทุกชนิดนำออกจำหน่ายเพื่อรวบรวมเงินมาจ่ายให้กับพนักงานทั้งหมด แต่เจ้าของโรงงาน ไม่ยอมเซ็นสัญญาซื้อขายอ้างราคาต่ำเกินไป อย่างไรก็ตามทางตัวแทนพนักงานจะเร่งขายทรัพย์สินของบริษัทให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันจ่ายเงินให้กับพนักงานในวันที่ 27 ก.ค. แต่เจ้าของบริษัทบอกให้ทางคนงานต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ของทางโรงงานเป็นเงิน 3 ล้านบาทก่อน
 
นายบุญลือ กล่าวว่า ขณะนี้ขายสินค้าของโรงงานได้ยอดเงินมาทั้งสิ้น 1.4 ล้านบาท โดยในวันที่ 27 ก.ค. จะต้องจ่ายค่าแรงให้กับพนักงานอีก 6 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีบริษัทอื่นมาติดต่อซื้อสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องจักร ซึ่งอาจจะได้เงินประมาณ 20 ล้านบาทเศษ แต่มีเครื่องจักรบางตัวติดไฟแนนซ์อยู่ และยังพบอีกว่าเจ้าของโรงงานพยายามดึงเกมให้ขายสินค้าได้ช้าที่สุด โดยอ้างว่ากลัวเช็คเด้งบ้าง กลัวจะถูกเจ้าหนี้หรือแบงก์มายึดบ้าง
 
ด้าน น.ส.บุญชุบ บุญจันทร์ อายุ 37 ปี ทำงานแผนกเย็บ กล่าวว่า ทำงานมา 17 ปี เห็นนางเยาวลักษณ์นับถือการทรงเจ้าอย่างมาก พนักงานจึงสงสัยว่า การปิดโรงงานอาจเกิดจากคำสั่งของเจ้าเข้าทรงก็ได้