พุทธปรัชญาสู่ทฤษฎีการทำงาน |
รัฐพร คำหอม |
![]() |
มนุษย์เราเมื่ออยู่ในวัยทำงานก็มุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งด้านของการมีประสบการณ์เชี่ยวชาญในการทำงานมากขึ้น รวมไปถึงการได้รับตอบแทนเป็นตัวเลขทางการเงินตามแต่ที่ได้ตั้งเป้าไว้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามการแสวงและใฝ่หาจะเพื่ออะไร คงไม่สามารถที่จะไปกะเกณฑ์กำหนดแนวคิดว่าใครผิดใครถูก หากสิ่งที่พอจะนำมาบอกต่อได้ คือ วิธี หลักการทำงาน เพื่อที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ อย่างน้อยเพื่อให้ เกิดสุข กับการทำงาน |
![]() |
ทฤษฎีต่างๆ มากมายถูกคิดค้นมาจากทั่วมุมโลก แล้วนำมาถ่ายทอดบอกต่อ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง เพราะจะว่าไปแล้วการต่างกรรมต่างวาระก็มีผลต่อทฤษฎีที่ถูกคิดค้นขึ้นมา โดยที่ไม่จำเป็นว่าทฤษฎีที่คิดขึ้นมาใช้จนสามารถประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในที่แห่งหนึ่ง แล้วจะเป็นเครื่องรับรองว่าใครก็ตามเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วจะสำเร็จเสมอไป ดังนั้นการมุ่งคิดหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อมาเป็นแนวทางการทำงานจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา |
แต่แล้วเมื่อวันหนึ่งได้มีการย้อนคิดถึงปราชญ์ในอดีต ที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 2,500 กว่าปี เป็นหลักง่าย และอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง คือ คำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเจ้าแห่งทฤษฎีในปัจจุบันที่ชื่นชมเรียกกันว่าเป็น กูรู ยังต้องหวนคิดและน้อมนำมาประยุกต์ใช้ คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งโลกตะวันออก ปัจจุบันได้กลายเป็นที่รับรู้และยอมรับของคนในสังคมโลกตะวันตก แม้อาจจะไม่ใช่เพื่อการมุ่งเน้นปฏิบัติธรรม แต่เพื่อทำอย่างไรให้อยู่ในสังคมได้อย่างรู้อยู่ รู้เป็น และรู้ทำ พุทธปรัชญาที่เกิดมาแล้วในเวลาอันยาวนาน ได้กลับกลายมาเป็นทฤษฎีเพื่อมาใช้สำหรับเป็นหลักในการทำงานได้อย่างเป็นผลดี พุทธศาสนาบอกอะไร |
หัวใจแห่งพุทธศาสนา ละเว้นความชั่ว พึงกระทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส เป็นสิ่งที่คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธท่องกันมายาวนาน และถ้าหากเปลี่ยนจากแค่การท่องจำไปสู่การประยุกต์ใช้ หลักคำสอนนี้ถือเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตทุกด้าน และเมื่อพิจารณาเพิ่มขึ้นไปถึงหลักคำสอนของศาสนาพุทธ โดยที่ไม่ต้องลงลึกเพื่อหวังมรรคผลแห่งทางธรรม มีหลักปฏิบัติหลายข้อเป็นทฤษฎีสำคัญเพื่อนำมาใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว |
ศีล สมาธิ ปัญญา หรือหลักไตรสิกขา ที่เดิมนั้นในวัยเด็กเราอาจจะได้รับการสอนว่าหลักแห่งไตรสิกขานี้จะมีผลในการเรียนรู้ ทำให้สอบได้คะแนนดีๆ แต่ในความเป็นจริงไม่ควรหยุดการยึดถือหลักการนี้เมื่ออยู่ในช่วงวัยศึกษาเท่านั้น |
ศีล คือ การปฏิบัติตนในสิ่งที่ชอบที่ควร | ![]() |
สมาธิ คือ การตั้งมั่นและแน่วแน่ในจิตใจ เพื่อให้มีความพร้อมในกระบวนการทางความคิด | |
ปัญญา คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อศีลและสมาธิเจริญมาถึงระดับหนึ่ง | |
นอกจากนี้ กระบวนการแห่งปัญญาในทางพุทธศาสนายังประกอบด้วย สุตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการฟัง จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากความคิด และภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฝึกฝน |
![]() |
มาร์แชล โกลด์สมิท ผู้ที่สมาคมบริหารจัดการแห่งสหรัฐอเมริกา(American Management Association)ได้ยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน 50 นักคิดและการพัฒนาผู้นำอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสาขาการบริหารจัดการในรอบหลายปีมานี้ ด้านนิตยสารบิซิเนสวีกจัดอันดับให้โกลด์สมิท เป็นหนึ่งในนักปฏิบัติที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ของศาสตร์แห่งการพัฒนาความเป็นผู้นำ และยังได้รับการยกย่องจากอีกหลายสถาบัน หลายสื่อ ในแนวความคิดของคนผู้นี้ นับเป็นผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลระดับโลกในแง่แนวความคิด |
โดยเฉพาะที่พุ่งตรงไปในบรรดาผู้นำ ล่าสุดได้ออกหนังสือ What Got You Here Won't Get You There เมื่อต้นปี ก็ติดอันดับเป็นหนังสือทางธุรกิจที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา |
ศาสตร์หนึ่งที่นักคิดระดับโลกผู้นี้ยอมรับ คือ หลักแห่งพุทธปรัชญา และได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียน พร้อมทั้งบอกว่าสิ่งที่โลกตะวันออกรู้จากคำสอนของศาสดาแห่งศาสนาพุทธ เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัว เขาได้ลองนำมาปฏิบัติแล้วจึงอธิบายต่อแบบไม่ต้องซับซ้อน ดังนั้นสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยปฏิบัติแล้วสำเร็จ เมื่อเขานำมาประยุกต์ใช้ความสำเร็จก็ยิ่งมีมากขึ้น |
สิ่งที่โกลด์สมิทบอกก็คือ การที่พระพุทธองค์ตรัสในเรื่องของความเปลี่ยนแปลง และการอยู่กับปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าข้อแนะนำที่โกลด์สมิทแทรกไว้ ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอน ทุกสิ่งล้วนหาความเที่ยงแท้ไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเข้าใจหลักตรงนี้ การเป็นผู้บริหารที่ดี โดยไม่ยึดถือแต่ความเป็นตัวตนของตนเองด้วยความดื้อรั้น แต่เปลี่ยนเป็นการรู้และเข้าใจ ไปจนถึงความใส่ใจ ก็จะเกิดการวางแผนร่วมกันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะความสำเร็จไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งเพียงผู้เดียว การเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติ |
![]() |
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ ถือเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน ขณะเดียวกันมีบทบาทในเรื่องการนำหลักธรรมคำสั่งสอนมาใช้และเผยแผ่บอกต่อกันไป ดนัยเห็นว่าหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาประโยคเดียวที่ว่า ทุกอย่างล้วนมีความเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ครอบคลุมและทำให้เข้าใจชีวิต เมื่อทำงานประกอบธุรกิจ ช่วงขณะหนึ่งสินค้าของเราอาจเป็นที่นิยมใช้ เจาะตลาดได้อย่างดี แต่เมื่อมีคู่แข่งที่พยายามนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจกว่า ครองใจได้มากกว่า ก็สามารถแย่งตลาดไปได้ เมื่อเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงแล้ว สามารถทำให้ประยุกต์ใช้ว่าจะวางตัวเองและสินค้าอยู่ในระดับใดได้ |
พุทธศาสนาบอกได้ว่าไม่ต้องฟูมฟาย หรือกล่าวโทษใคร แต่ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น แต่ความสำคัญคือรู้ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงต่างหาก และหลักของพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่งที่ประยุกต์ได้ดี คือ พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกให้ใครเชื่อ แต่ให้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง การทำงานก็เช่นกันต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง นอกจากนี้ ดนัยยังบอกถึงสิ่งที่เขารับรู้ได้จากการศึกษาพุทธศาสนา คือ ทำให้บริหารงานอย่างมีหลักการที่ดี โดยมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแสงนำทาง ทำให้ไม่เผลอใจชั่ววูบไปมุ่งเน้นกำไรเฉพาะหน้า เมื่อมีคุณธรรมนำทาง ก็เหมือนมีแสงสว่างในตัว เมื่อองค์กรมีแสงสว่างก็เป็นการจุดไฟจุดประทีปในตัวเอง ดั้งนั้นหน้าที่คือการรักษาประทีปนี้ไว้ให้ได้ อย่าให้ดับวูบด้วยเงินมาล่อเพราะละโมบ ตะกละ |
|
ที่มา : หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 28-5-07 |