THE  NAPOLEAN  HILL’S  LAWS  OF  SUCCESS
 
Dr. Napolean Hill
 
ตอนที่ 4 : ความเชื่อมั่นในตนเอง
 
“เราทำได้ ....ถ้าเราเชื่อมั่นอย่างแรงว่าเราทำได้ !”
 
Dr. Hill ได้เกริ่นนำในเรื่อง—ความกลัวต่างๆในท้ายตอนแล้ว ซึ่งความกลัวทั้ง 5 ประการเหล่านั้นเป็นอุปสรรคของเราในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  และความเชื่อมั่นนี้แหละที่เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่เราต้องการ
ตราบใดที่เราไม่สามารถกำจัด—ความกลัวออกไป  ความเชื่อมั่นในตนเองจะไม่มีทางเกิด  และถ้าไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง  ความสำเร็จก็ไม่ต้องพูดถึง !!
“ความกลัวเป็นสุสานของจิตใจ  ซึ่งใจหนีเข้าไปซุกซ่อน  และกักขังตนเองอยู่อย่างโดดเดี่ยว  ความกลัวจะนำ—"ความงมงาย"มาสู่การประหารดวงวิญญาณที่จะสร้างสรรค์ความสำเร็จ !”
เบื้องหน้าโต๊ะทำงานของ Dr. Hill   มีป้ายแขวนอยู่ป้ายหนึ่งที่เขียนว่า “ทุกๆวัน  ข้าพเจ้าประสบความสำเร็จมากขึ้น”
มีคนขี้สงสัยถามเขาว่า “คุณเชื่อ—ไอ้นั่น จริงๆหรือ ?”
Dr.Hill ตอบว่า “ไม่รู้สิ  มันช่วยให้ผมออกมาจากการเป็นกรรมกรในเหมืองถ่านหิน  มาเป็นงานใหม่ที่กำลังช่วยคนนับแสนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทุกวันนี้ได้  คุณว่าผมควรเชื่อมันไหมละ ?”
ทางตอนใต้ของเมือง Louiseville , Kentucky  เป็นที่อยู่ของ Mr. Lee  Cook ซึ่งกำเนิดมาพร้อมกับการพิการจากการที่ไม่มีขา  แต่ในที่สุดเขาก็เป็นเจ้าของโรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง  เขาเป็นเศรษฐีด้วยความสามารถของตนเอง  ! เขาเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีมากต่อความเชื่อที่ว่า—คนเราสามารถที่จะก้าวหน้าได้แม้จะไม่มีขา  หรือไม่มีสิ่งที่เหมือนคนอื่นทั่วไป—หากเขามี “ความเชื่อมั่นในตนเอง” !
ใน New  York , Dr. Hill เห็นคนพิการไม่มีขานั่งรถเข็นไปบนถนน  Fifth Avenue ยื่นหมวกขอทานจากคนเดินถนนเพื่อยังชีพ  จริงๆแล้ว  เขาสามารถเปลี่ยนชีวิตของตนเองได้ถ้า--คิดถึงตนเองแบบเดียวกับวิธีคิดของ Mr. Cook  !
Dr. Henry Ford ได้รับการศึกษาเพียงน้อยนิด  เริ่มชีวิตทำงานด้วยการเป็นกรรมกรในโรงกลึงที่มีคนงานทั้งหมดหลายสิบคน  แต่แล้ว Mr. Ford โยนทิ้งความสำนึกเรื่องความยากจน  สร้าง “ความเชื่อมั่นในตนเอง” ขึ้นมา  ใฝ่ฝันความสำเร็จและคว้ามาได้สำเร็จ  ในขณะที่เพื่อนๆในโรงกลึงยังคงทำงานอยู่ในอาชีพเดิม และหากพวกเขามีความเชื่อมั่นเหมือน  Mr. Ford พวกเขาก็จะเปลี่ยนชีวิตตนเองได้เช่นกัน !
   
Mr. Hill ยกคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลในเรื่อง “ความเชื่อมั่นในตนเอง” ว่า—อย่าสนใจว่าคนเขาจะว่าอย่างไร ? คุณควรจะรู้ดีที่สุดว่าคนอื่นๆมีส่วนช่วยคุณน้อยมากๆในการปีนขึ้นเชิงเขาแห่ง “เป้าหมายที่สำคัญแน่นอน—หรือเรียกว่าคือความสำเร็จของคุณ” ดังนั้นแล้ว  อำนาจ  พลัง  และความรับผิดชอบในการกระทำให้สำเร็จนั้น—อยู่ที่คุณคนเดียวเท่านั้น ! 
 
ตามที่คัมภีร์กล่าวไว้ว่า “จงรู้จักตนเอง  มนุษย์เอ๋ย ! จงรู้จักตนเอง !”
 
คนที่ยอมรับความจริงข้อนี้  จะมีบุคคลิกพิเศษที่เด่นชัดข้อหนึ่งคือ—เมื่อเกิดการล้มเหลว  หรือผิดคาด  เขาจะไม่โทษคนอื่นๆ  ตรงกันข้าม  เขากลับมองหาจุดอ่อนของตนเอง  ศึกษาวิธีที่ดีกว่าจากคนอื่น  แล้วเปลี่ยนวิธีทำของตนใหม่โดยไม่ทิ้งเป้าหมาย  ไม่ว่าจะล้มเหลวกี่ครั้ง ! ไม่ว่าการล้มเหลวนั้นมีบางส่วนจากผู้อื่นก็ตาม  เขาก็จะหาวิธีในการเอาชนะอุปสรรคจนได้โดยไม่บ่นโทษคนอื่น !
 
ทำไมการมีความเชื่อมั่นในตนเองจึงเพิ่มโอกาสที่จะสำเร็จ ?
“ฝูงชนจะหลีกทางให้แก่คนเดินเร็วฉันใด  คนมักจะเชื่อถือคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองฉันนั้น” คนที่มีความเชื่อมั่นมักจะส่งคลื่นสมองผ่านอีเธอร์ออกไปรอบตัวตลอดเวลาให้คนอื่น—รู้สึกได้  และเมื่อไรก็ตามที่เราสามารถใช้หลักการ—การปรับรังสีจิตใจในการสร้าง “อภิจิต” ให้เกิดขึ้นมาในกลุ่มที่ทำงานด้วยกันได้  เมื่อนั้น  “สมอง”ของแต่ละคนก็จะเหมือนกับ  เสาส่งและเสารับสัญญาณ  ที่มีการ Tune คลื่นที่ตรงกัน  ในช่วงนี้แหละที่—การสร้างแรงเสริมระหว่างกันในกลุ่ม  จะมีประสิทธิภาพสูงสุด  นี่คือเหตุผลที่จะเกิดความสำเร็จสูงสุด !
 
   
“ศรัทธา  และ  ความเชื่อมั่นในตนเอง”
“ศรัทธา—(Faith)” มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการสร้าง “ความเชื่อมั่นในตนเอง”
   
เพราะ “ศรัทธา” ว่า—ด้วยวิธีที่เหมาะสม  มนุษย์ก็สามารถบินได้เหมือนนก-- ใช่หรือไม่ที่พี่น้องตระกูล Wright จึงบากบั่นเป็นแรมปี  ก่อนที่เขาจะทำให้มนุษย์ “บินได้” อย่างน่าอัศจรรย์

 

 

เพราะ “ศรัทธา” ว่า—โลกน่าจะกลม-- ใช่หรือไม่ที่ Christopher Columbus พาคนที่กลัวจะตก—ขอบโลก  ฝ่าเขตแดนแห่งปีศาจแห่งท้องทะเลทั้งหลาย  ฝ่าการก่อกบฏของลูกเรือถึง 3 ครั้งในช่วงท้ายๆของการเดินทางที่--แสนทรหดหลังจากเดินทางมาหลายเดือน  ก็ยังไม่เห็น—America   แต่ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ !
 
เพราะ “ศรัทธา”ว่า—ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้เห็นอีกมาก-- ใช่หรือไม่ที่ Nicholus  Corpernicus พยายามพิสูจน์ให้โลกเห็นว่ายังมีกาแลกซี่อื่นๆ นอกเหนือจากระบบสุริยะที่เราเคยรู้
   
เพราะ “ศรัทธา” ในแนวคิดทางวิทยาศาสตร์--ใช่หรือไม่ที่ทำให้เรามีหลักยึดในการยืนหยัดต่อ “เป้าหมายที่แน่นอน”–เราสามารถรักษาความเชื่อที่ว่ามีวิธีทางวิทยาศาสตร์มากมายที่จะนำวิธีแก้ปัญหาที่เราเผชิญอยู่เสมอ  แต่ที่เรายังไม่พบเพราะเรายัง—คิด  หรือ—ทำไม่ถูกวิธีนั่นเอง  ท่ามกลางความเชื่อที่งมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนรอบข้าง  ที่มักอ้างสาเหตุความล้มเหลวว่ามาจากโชคชะตานั้น  แท้ที่จริงแล้วก็เพื่อเป็นข้ออ้างให้ตนได้ล้มเลิกมากกว่า !
 
เพราะ “ศรัทธา” ในการใช้สติปัญญา--ใช่หรือไม่  เราจึงเชื่อว่า –ทุกปัญหาย่อมต้องมีทางออกด้วยการใช้สติปัญญา  ไม่ใช่ใช้อารมณ์   !
 
เพราะ “ศรัทธา” ในความจริงที่ว่า—ไม่มีใครอยากเป็นผู้ร้ายในสายตาคนอื่น  และไม่มีใครสมบูรณ์แบบในทุกเวลา—ใช่หรือไม่  ที่ทำให้เรายอมอดทนกับอารมณ์  กับกริยาที่เราไม่ชอบของคนอื่น  เพื่อผลของความสามัคคี ! เพราะ “ศรัทธา”ในการลงมือ--ทำ  ใช่หรือไม่  เราจึงควรชื่นชมผู้ที่ทำมากกว่า--ผู้ที่พูดอย่างเดียว  !
 
 
 
เพราะ “ศรัทธา” ในการทำความดี-- ใช่หรือไม่  ที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงที่จะร่วมขบวนการกับคนที่มีอำนาจในการทำลายคนดี  เพียงเพื่อที่จะเอาตนเองรอด  และยอมเสี่ยงกับการถูกกาหัวว่าเป็น—แกะดำ !
   
“ศรัทธา” ก่อให้เกิด—การยืนหยัดในเป้าหมาย
“การยืนหยัดในเป้าหมาย” ก่อให้เกิด—การเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก
“การเรียนรู้” ก่อให้เกิด “ความเชื่อมั่นในตนเอง” !
 
อืมม  ....ผ่านไปอีกหนึ่งขั้น  เราเข้าใกล้ความสำเร็จเข้าไปอีกแล้ววววว ....