ภาวะผู้นำในการบริหารต่างวัฒนธรรม เมื่อบริษัทได้ประโยชน์จากความหลากหลาย

 
 
คาร์ลอส กอสน (Carlos Ghosn) ซึ่งปัจจุบันเป็นซีอีโอของบริษัทรถยนต์ชื่อดัง 2 แห่งในเวลาเดียวกัน คือ เรโนลต์ ฝรั่งเศส และนิสสันมอเตอร์ที่ญี่ปุ่น เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการแก้ปัญหา ทำให้ นิสสัน บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นพลิกกลับจากการขาดทุนจนเกือบจะล้มละลายในยุคปลายของทศวรรษที่ 90
 
คาร์ลอสได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปีจากวารสารฟอร์จูน ฉบับเอเชีย ในปี 2003
 
เมื่อเรโนลต์เข้ามาถือหุ้นในนิสสันมอเตอร์ เขาถูกส่งมาเป็นซีอีโอของนิสสัน จนกระทั่งเขาสามารถแก้ไขปัญหาของนิสสันได้สำเร็จ ต่อมาในปี ค.ศ. 2005 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอของเรโนลต์อีกแห่งหนึ่ง เท่ากับว่าเขาบริหาร 2 บริษัทใน 2 ทวีปไปพร้อมๆ กันตั้งแต่นั้นมา
คาร์ลอสมีพ่อแม่เป็นชาวเลบานอน แต่เติบโตมาในบราซิล และได้รับการศึกษาส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส โดยจบวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2006 เขาไปบรรยายให้นักศึกษาที่โรงเรียนบริหารธุรกิจสแตนด์ฟอร์ดในอเมริกาฟัง ในหัวข้อ นิสสันและเรโนลต์ พันธมิตรที่ประสบความสำเร็จจากความแตกต่าง
 
นี่คือบางส่วนที่เป็นบทเรียนที่ผมนำมาจากสิ่งที่คาร์ลอสนำเสนอ
 
คาร์ลอส บอกว่า การทำให้พนักงานร่วมมือและร่วมใจกัน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดความสนใจจากลูกค้า เป็นหัวใจของความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในศตวรรษที่ 21 นี้
 
แต่ว่าการนำองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานเป็นแสนๆ คนให้มีวิสัยทัศน์ที่เหมือนกัน เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และความท้าทายนี้ยิ่งมีมากขึ้นไปอีก หากต้องนำองค์กรขนาดใหญ่ 2 แห่ง ซึ่งมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก แถมตั้งอยู่คนละซีกโลกคือ ยุโรป และเอเชีย
 
“แต่ว่าหากมีการจัดการที่ดี เราก็สามารถบริหาร แม้ว่าจะอยู่กันคนละทวีปเลยก็ตาม” คาร์ลอส เผย
 
องค์กรสององค์กรมาร่วมเป็นพันธมิตร โดยการถือหุ้นซึ่งกันและกันสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีการควบรวมกันแล้ว มีเจ้าของรายเดียวในลักษณะว่าใครถือครองใคร
 
การที่ทั้งสององค์กรยังคงเอกลักษณ์ของตนเอง ทำให้พนักงานของแต่ละแห่งรู้ว่าเขาขึ้นกับใคร และใครกระตุ้นจูงใจเขา
 
การรวมตัวกันของเรโนลต์และนิสสัน โดยที่แต่ละแห่งยังคงเอกลักษณ์ของตัวเองนั้น เป็นกรณีศึกษาที่มีน้อยแห่งทำ และประสบความสำเร็จ คาร์ลอสเปิดเผยเบื้องหลังว่ามาจากหลักการพื้นฐาน 3 ประการ คือ
 
1.ให้เกียรติและเคารพในเอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง เรโนลต์ยังคงเป็นเรโนลต์ และนิสสันยังคงเป็นนิสสัน เพราะว่าญี่ปุ่นและฝรั่งเศสต่างก็มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตน
 
 
2.อำนาจการตัดสินใจที่อิสระ การตัดสินใจในเรื่องของเรโนลต์ทำกันในฝรั่งเศส ในขณะที่การตัดสินใจกิจกรรมของนิสสันก็ทำกันในญี่ปุ่น
 
3.“เราไม่ใช่ต้องการรวมกัน เพื่อแค่รวมสินทรัพย์ให้มากขึ้น” ทุกๆ โครงการและกิจกรรมที่บริษัททั้งสองแห่งตกลงว่าจะทำร่วมกัน จะต้องให้ผลกำไรที่ดีขึ้นทางธุรกิจต่อทั้งสองฝ่าย
 
คาร์ลอสบรรยายประมาณ 20 นาที จึงเปิดโอกาสให้นักเรียนสอบถาม
 
มีนักศึกษาชาวญี่ปุ่นถามเขาว่า “อะไรคือความท้าทายที่สุด ในระหว่างที่เขากู้วิกฤตให้กับนิสสัน”
 
คาร์ลอส ตอบว่า “ในยุคทศวรรษที่ 90 นิสสันไม่คืบหน้า ในขณะที่บริษัทคู่แข่งยักษ์ใหญ่ 2 แห่งในญี่ปุ่นมียอดขายที่ดีมาก ในขณะที่ทั้ง 3 แห่งมีทรัพยากรที่ไม่แตกต่างกัน ทำให้พนักงานของนิสสันใจฝ่อ พวกเขาคิดว่าต้องมีอะไรที่ผิดปกติอย่างมากในนิสสัน ทำให้พวกเขาเสียความมั่นใจ
 
หน้าที่ของผม ก็คือการฟื้นความมั่นใจกลับมา ผมดูแล้วพวกเรามีศักยภาพที่จะทำได้มากมายนักในตอนนั้น เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้ใช้ศักยภาพของเราอย่างเต็มที่เท่านั้นเอง แต่ว่าผมต้องการให้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันกับผม เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะฝ่าฟันวิกฤตไปในทิศทางเดียวกัน”
คาร์ลอส อธิบายเพิ่มเติมว่า การสร้างความเชื่อมั่น หมายความว่าเราต้องสามารถตอบคำถามที่คนยังมีความกังวลใจอยู่
   
   
“ในตอนแรก พนักงานก็ถามว่าเราต้องลดต้นทุน แล้วยังไงต่อละ เราจะสามารถผลิตรถยนต์ที่ยอดนิยมได้หรือเปล่า”
 
“ผมก็ต้องพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่า เราสามารถสร้างรถที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าได้ เมื่อเรามีรถดีๆ ออกมา สื่อมวลชนก็เริ่มเชียร์เรา ลูกค้าก็เริ่มกลับมาซื้อ เราก็พอมีกำไร คนก็เริ่มมีคำถามต่อไปว่า แล้วเทคโนโลยีใหม่ๆ ละ คุณทำได้หรือเปล่า เราก็ต้องเน้นเรื่องเทคโนโลยี เมื่อเราตอบโจทย์เรื่องเทคโนโลยีได้ ก็จะมีคำถามใหม่ๆ เข้ามา”
 
สิ่งที่เราทำก็คือ ตอบโจทย์ทีละข้อ มุ่งความสนใจไปทีละเรื่อง เมื่อคนเห็นว่าเราค่อยๆ ทำได้ ความเชื่อมั่นก็เริ่มกลับมา”
 
“การนำความมั่นใจกลับมาเป็นเรื่องสำคัญ ความมั่นใจไม่ใช่ความยโส ความมั่นใจคือทัศนคติ แต่ต้องมีความถ่อมตัว เราต้องรู้ว่าจุดแข็งของเราคืออะไร และจุดอ่อนของเราคืออะไร แล้วพัฒนาจุดแข็ง หาทางแก้ไขจุดอ่อน และมุุ่่งข้างหน้าตลอดเวลา”
 
แล้วก็มาถึงคำถามที่น่าสนใจในการบริหารวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างฝรั่งเศสและญี่ปุ่น
 
คาร์ลอสเกริ่นก่อนว่า “เมื่อคนต่างชาติต่างภาษามาทำงานร่วมกัน ปฏิกิริยาแรกก็คือ เรามักจะมองสิ่งที่เป็นด้านลบของคนชาติอื่นก่อน เพราะความแตกต่างกัน
 
สมมติว่าคุณมีพนักงานชาวญี่ปุ่น และพนักงานชาวฝรั่งเศสนั่งประชุมกันเรื่องการวางแผนธุรกิจ
 
ชาวญี่ปุ่นจะมุ่งความสนใจไปที่การนำไปปฏิบัติจริง ในระหว่างวางแผนยุทธศาสตร์ เขาจะสงสัยในหัวตลอดเวลาว่า จะนำยุทธศาสตร์นี้ไปทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างไร ดังนั้น พวกเขามีแนวโน้มที่จะตัดสินใจได้ช้า ในขั้นตอนแนวคิดหรือการวางกลยุทธ์ แต่ว่าเมื่อถึงเวลาลงมือปฏิบัติแล้ว พวกเขาจะทำได้อย่างรวดเร็วมาก เพราะว่าเขาได้คิดมาในหัวของเขาตลอดในช่วงวางแผนเรื่องแนวคิด
 
ในขณะเดียวกัน ชาวฝรั่งเศสจะมีความคล่องแคล่วและเชี่ยวชาญในการวางแผนเรื่องแนวคิดและยุทธศาสตร์ พวกเขาคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ อย่างรวดเร็ว แต่ว่าเวลาลงมือปฏิบัติ พวกเขาจะทำได้ไม่เก่ง ส่วนใหญ่มักจะมอบหมายให้คนอื่นนำไปปฏิบัติ
 
พูดง่ายๆ ก็คือ ชาวญี่ปุ่นเก่งทำ ชาวฝรั่งเศสเก่งคิด
 
ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายก็จะมองอีกฝ่ายหนึ่งด้วยกรอบความคิดที่ต่างกัน
 
ญี่ปุ่นก็จะมองว่าฝรั่งเศสเก่งแต่พูด แต่ว่าลงมือทำไม่เป็นสับปะรด
 
ฝรั่งเศสก็มองว่าญี่ปุ่นคิดช้า งุ่มง่าม
 
หากคุณต้องการประสบความสำเร็จ คุณต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายเปลี่ยนมุมมอง คุณต้องทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นเปลี่ยนความคิดใหม่เป็นว่า เราจะเรียนจากพวกฝรั่งเศสได้อย่างไร เพื่อเราจะได้มีกระบวนการคิดที่รวดเร็วในช่วงการวางแผน
 
ในทางกลับกัน คุณก็ต้องทำให้ฝั่งฝรั่งเศสเปลี่ยนมุมมองใหม่เช่นกันว่า เราจะเรียนรู้จากพวกญี่ปุ่นว่า เราจะลงมือปฏิบัติงานอย่างไรได้เร็วและมีคุณภาพที่ดีเหมือนพวกเขา
 
หากเราไม่บริหารจัดการ แล้วปล่อยให้พวกเขาลงมือทำงานร่วมกัน โดยยังมีมุมมองที่จุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม งานก็จะไม่ก้าวหน้า
 
เราต้องบริหารจัดการ เพื่อให้เขาเข้าใจว่าเราสามารถที่จะเรียนรู้จากคนที่แตกต่างกับเราได้
 
พวกเรามีแนวโน้มที่จะสุงสิงกับคนที่คล้ายๆ เรา มันง่ายดี แต่ว่าเราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมมากนัก
 
ในทางกลับกัน การทำงานและสังคมกับคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกับเรา เราอาจจะรู้สึกอึดอัด แต่ว่าเราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมาย คนต่างวัฒนธรรมมาทำงานร่วมกันนั้น เราในฐานะฝ่ายบริหารต้องมีส่วนบริหารความแตกต่างนั้นด้วย มันไม่ง่าย แต่ว่าเมื่อเราทำได้ ผลลัพธ์ที่ออกมามันก็คุ้มค่า”
 
 
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ : POST TODAY 19-03-07