‘เอเชีย’เจออุปสรรคเพียบ ยูเอ็นหวั่นซ้ำรอยวิกฤต’40
 
 
กรุงเทพฯ (เอเอฟพี) — ยูเอ็นหวั่นเศรษฐกิจเอเชียอาจเจอความเสี่ยงใหม่ ซึ่งอาจสั่นคลอนต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ คิมฮักซู เลขาธิการคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกของสหประชาชาติ (เอสแคป) กล่าวในระหว่างพิธีเปิดการประชุม 10 ปี หลังเหตุวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ปี 2540 ว่า เศรษฐกิจเอเชียเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ ซึ่งอาจสั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ แม้ว่าในปัจจุบันประเทศในเอเชียจะสามารถฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 ได้ก็ตาม
“สำหรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ บางปัจจัยก็มีลักษณะคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งเริ่มขึ้นจากไทยก่อนที่จะขยายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก” คิม กล่าว
 
เลขาธิการเอสแคป ยังกล่าวว่า สภาพคล่อง ทั่วโลก มูลค่าหุ้นที่สูงและแรงกดดันจากการเก็งค่าเงินในภูมิภาค อาจก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจในเอเชียอีกครั้งได้ โดยคิมยอมรับว่า แม้โลกาภิวัตน์จะเอื้อประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทว่าในขณะเดียวกัน โลกาภิวัตน์ก็ทำให้เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
 
พร้อมกันนี้คิมยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลในเอเชียดำเนินนโยบายที่มีการยืดหยุ่นในเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา และธนาคารกลางของประเทศจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายการแลกเปลี่ยนเงินตราอีกด้วย
 
“ยิ่งมีความยืดหยุ่นมากเท่าไรยิ่งจะช่วย ป้องกันการเก็งค่าเงิน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการไหลเวียนเงินทุนมากกว่าที่ควรจะเป็นนั้น เนื่องจาก การที่ตลาดตระหนักได้ว่าค่าเงินสามารถที่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา” เลขาธิการเอสแคป กล่าว
 
คิมชี้ด้วยว่าชาติในเอเชียควรที่จะหันมา สร้างความแข็งแกร่งในภาคเศรษฐกิจมหภาค พัฒนาด้านการเงินให้เข้มแข็ง ร่วมมือกันกระตุ้นการขยายตัวในภาคเศรษฐกิจจุลภาค และพัฒนาความร่วมมือระหว่างภูมิภาค
 
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2540 ไทยต้องเผชิญกับปัญหาการกู้เงินสกุลสหรัฐมากเกินไป กอปรกับการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายลอยค่าเงิน ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทของไทยต่อสหรัฐอ่อนค่าตกไปอยู่ที่ 56 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่เพียง 25 บาทเท่านั้น และในท้ายสุดเหตุการณ์ดังกล่าวก็นำมา ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ
 
ก่อนที่จะขยายวงความเสียหายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น
 
ทำไมเราต้องเป็น"ตัวป่วน" ในภูมิภาคนี้อยู่เรื่อย?
 
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ : POST TODAY 27-02-07