THE
NAPOLEAN HILL’S
LAWS OF SUCCESS
ปรัชญาชีวิต ศาสตร์แห่งความสำเร็จ
 
 
ภูมิหลังของหนังสือ “ปรัชญาชีวิต ศาสตร์แห่งความสำเร็จ”
 
ดร.นโปเลียน  ฮิลล์  ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างยากจน ในกระท่อมไม้ซุงของเมืองวิสเคาน์ตี้ รัฐเวอร์จิเนีย  เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1883 และถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองกรีนวิลล์  รัฐเซ้าท์คาโรไลนา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1970
 
 
 
 
เมื่อเป็นเด็กเขาได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เลี้ยงที่เฉลียวฉลาด และมีความอดทนซึ่งรักเขาประดุจลูกในไส้  ท่านเป็นคนที่กระตุ้น “เด็กที่มีปัญหา” คนนี้ให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีการศึกษา และประสบความสำเร็จในชีวิต
 
 
 
ในค.ศ.1908  ขณะที่เขามีอายุได้  25  ปีและกำลังทำงานให้กับนิตยสารฉบับหนึ่งเพื่อหาเงินเป็นค่าเล่าเรียนในวิทยาลัย  วันหนึ่ง เขาได้รับมอบหมายให้เข้าทำการสัมภาษณ์แอนดรู  คาร์เนกี อภิมหาเศรษฐีซึ่งเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า  นักปราชญ์ และนักบริจาคเพื่อกิจการสาธารณกุศล
 
   
 
แอนดรู คาร์เนกี
แอนดรู คาร์เนกี มีความประทับใจในตัวเด็กหนุ่มคนนี้ถึงกับเชื้อเชิญเขาให้เป็นแขกในคฤหาสน์ของเขาตลอดเวลาสามวันสามคืน คนทั้งสองสนทนากันในเรื่องปรัชญา ผู้อาวุโสได้  
พรรณาถึงชีวิตและหลักปรัชญาของนักปราชญ์หลายต่อหลายคน โดยเฉพาะในส่วนที่ได้ผลักดันอารยธรรมให้ก้าวไปข้างหน้าแก่เด็กหนุ่ม ซึ่งฟังด้วยความปิติยินดี
ระหว่างการสนทนา มร.คาร์เนกี ได้ชี้ให้เห็นหลักการและแนวความคิดเหล่านั้น ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและชัดเจน รวมทั้ง  “วิธีการ” ที่คนทั่วๆไปสามารถที่จะเอาไปใช้ในงานอาชีพ สังคม และชีวิตครอบครัว
 
แอนดรู คาร์เนกี   รู้ธรรมชาติของมนุษย์  เขารู้ว่าวิธีที่จะทำให้มนุษย์ลงมือทำงานด้วยพลังงานระดับที่สูงส่ง และมุ่งมั่นต่อไปจนประสบความสำเร็จ ก็คือ ด้วยการท้าทาย เด็กหนุ่มคนนี้ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง  ดังนั้นเขาจึงได้รับการท้าทาย
 
“อะไรที่มีอยู่ในประเทศนี้ ที่ชาวต่างประเทศอย่างฉันและคนอื่นๆ สามารถที่จะเอามาใช้ในการสร้างธุรกิจและความมั่งคั่งสมบูรณ์ ?” มร.คาร์เนกีถามขึ้นในตอนหนึ่ง แต่ก่อนที่เด็กหน่มจะตอบออกมาเขาก็พูดต่อไปว่า “ฉันขอท้าให้เธออุทิศเวลาในชีวิตของเธอสักยี่สิบปี  เพื่อทำการศึกษาปรัชญาแห่งความสำเร็จของชาวอเมริกันอย่างสมบูรณ์เธอจะรับไหม ?”
“รับครับ” เด็กหนุ่มตอบเกือบจะในทันทีทันใด
 
แอนดรู คาร์เนกี มีข้อสังเกตอยู่ว่า...สิ่งใดก็ตามที่มีคุณค่าแก่ชีวิต ย่อมคุ้มค่าต่อการทำงานเพื่อให้ได้มา เขามีความเต็มใจที่จะอุทิศเวลาส่วนตัวเพื่อให้คำปรึกษาและเขียนจดหมายแนะนำเด็กหนุ่มผู้นี้ต่อบุคคลสำคัญๆในยุคนั้น  และเขาเต็มใจที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการนี้  เป็นต้นว่า  ค่าเดินทาง โดยเป็นที่เข้าใจกันว่า นโปเลียน ฮิลล์ จะต้องดำรงชีวิตด้วยรายได้ของตนอง
   
ระหว่างยี่สิบปีต่อมา นโปเลียน ฮิลล์ ได้ทำการสัมภาษณ์บุคคลที่ประสบความสำเร็จกว่าหนึ่งร้อยคน ในจำนวนนี้มี เฮนรี่ ฟอร์ด, วิลเลี่ยม ไวท์เล่ย์ จูเนียร์, จอห์น วานาเมกเกอร์, จอร์ช อีสแมน ,อดีตประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลท์, จอห์น ดี .ร๊อกกี้เฟลเลอร์, โทมัส อัลวา เอดิสัน, เอลเบิร์ต ฮับบาร์ด, เจ.โอเจน อาร์เมอร์,ลูเธอร์ เบอร์แบงค์ , ดร. อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ , และ จูเลียต โรเซ็นวาร์ด รวมอยู่ด้วยและเขาก็ได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยรายได้ของตนเองจริงๆ โดยใช้หลักการต่างๆที่เขาได้เรียนรู้มาจาก มร.คาร์เนกี และคนที่เขาสัมภาษณ์ จนในที่สุด เขาก็ได้รวบรวมหนังสือ “The Laws of Success” หรือ “ปรัชญาชีวิต ศาสตร์แห่งความสำเร็จ”
เล่มนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1928 (ยี่สิบปีนับจากวันที่ได้รับมอบหมายจาก  แอนดรู คาร์เนกี)  เริ่มด้วยหนังสือชุด  8 เล่มจบก่อนที่จะรวบรวมพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มเดียว  ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้กระตุ้นคนนับหมื่นในส่วนต่างๆ ของโลกให้บรรลุความมั่งคั่งร่ำรวยหรือทำงานที่ทำอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในชีวิต
 
ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ทำให้ นโปเลียน ฮิลล์  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯถึงสามคนด้วยกัน  คือ วิลเลี่ยม โฮวาร์ด ทัฟต์,วู๊ดโร วิลสัน และแฟรงคลิน ดี.โรสเวท์  รวมทั้ง การเป็นที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดีมานูเอล แอล.เควซอน ในการรณงค์เพื่อปูทางเอกราชให้แก่ประเทศฟิลิปินส์
 
 
................................................................................................................
 
 
 
ข้าพเจ้าได้แปลหนังสือ “ปรัชญาชีวิต ศาสตร์แห่งความสำเร็จ”  เล่มนี้ไว้ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2522   และได้พิมพ์เป็นหนังสือ (สองเล่มจบ)  ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2524  แล้วรวมเข้าเป็นเล่มเดียวจบในการพิมพ์ครั้งที่ 8 ในปี พ.ศ.  2544  ตราบจนปัจจุบันก็เป็นเวลาร่วมยี่สิบเจ็ดปีแล้ว
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้รับ “ข่าวดี” จากคนหลายๆคน คนที่ได้รับความประทับใจจากหนังสือเล่มนี้  บางคนขอบคุณที่ข้าพเจ้าแปลหนังสือเล่มนี้ เพราะทำให้เขาได้อ่านและนำไปใช้ประโยชน์  จนสามารถสร้างความสำเร็จให้แก่ชีวิตของตนได้ บางคนร่ำรวยและมีความสุขกับชีวิต   บางคนต่อว่าข้าพเจ้าที่มีได้ทำการโฆษณาหนังสือดีๆ เล่มนี้ทำให้เขาขาดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จที่ควรจะได้รับในอดีต  บางคนกว่าจะมาพบหนังสือหนังสือเล่มนี้ก็ได้สูญเสียธุรกิจและทรัพย์สมบัติของตนไปแล้ว ด้วยความจริงใจ ข้าพเจ้าต้องขออภัยอย่างยิ่งที่มิได้ทำการ โฆษณาเผยแพร่หนังสือเล่มนี้อย่างที่มันน่าจะได้รับการโฆษณาเหตุผลข้อหนึ่งก็คือ  ระหว่างพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ในช่วงแรกนั้น
   
   
ข้าพเจ้าไม่มีทุนรอนมากพอที่จะทำการโฆษณาหนังสือนี้ได้   อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  ความรู้สึกของข้าพเจ้าเองที่คิดว่าหนังสือที่ดีขนาดนี้ไม่น่าที่จะทำการโฆษณาเพราะคนที่ “แสวงหา” หนังสือที่ดีเช่นนี้ “ย่อมจะได้พบในที่สุด (และจนได้)” การโฆษณาหนังสือเล่มนี้จะทำให้น่าสงสัยมากกว่า เพราะสิ่งที่ดีจริงๆแล้วสามารถติดต่อกันได้แบบปากต่อปาก และเท่าที่ผ่านมาร่วมยี่สิบเจ็ดปีก็ได้พิสูจน์ความเชื่อของข้าพเจ้าว่ามันเป็นความจริง
   
อย่างไรก็ตาม  ข้าพเจ้าเชื่อว่า หนังสือที่ดีแล้วควรจะได้มีการทบทวนและแก้ไขส่วนที่บกพร่องในเวลาอันสมควร  เพราะข้าพเจ้าเองก็พบหนังสือบางเล่มที่ดีเด่นในอดีต แต่มิได้รับการปรับปรุงแก้ไขในการพิมพ์ครั้งหลังๆ มีส่วนบกพร่องที่น่าเสียดาย ยิ่งผู้เขียนหรือผู้แปลเสียชีวิตไปแล้วก็ยิ่งไม่มีใครเข้าไปแก้ไขปรับปรุง  ในเมื่อข้าพเจ้าเองยังมีชีวิตอยู่ก็น่าที่จะทำการแก้ไขปรับปรุงเสียเอง  มิฉะนั้นคงจะไม่มีใครมาจับทำเพราะคนที่รู้จักหนังสือคงจะไม่มีใครสามารถรู้จักได้ดีเท่ากับผู้ที่ทำมันมากับมือของตนเอง
   
ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย  ข้าพเจ้าเริ่มแปลหนังสือเล่มนี้ขณะที่เรียนอยู่ในปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัย หลังจากพิมพ์หนังสือครั้งแรกแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้พบกับคนหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต  แม้ชีวิตของข้าพเจ้าเองก็ประสบกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย จากคนโสดเป็นคนที่มีครอบครัวแล้วก็กลายมาเป็นพ่อหม้ายเพราะภริยาเสียชีวิต 
   
วันเวลาสอนข้าพเจ้าว่าสิ่งที่แน่นอนก็คือสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่มีใครบอกเราได้ว่าอะไรกำลังรอเราอยู่ในอนาคต และอนาคตของคนเราแต่ละคนจะไปกันได้ไกลแค่ไหน  วันเวลาบอกข้าพเจ้าในสิ่งที่ครูของข้าพเจ้าคนหนึ่งในสมัยเรียนมัธยมสอนเอาไว้ว่า “จงทำขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ตายแล้วอย่าบ่นว่าไม่ได้ทำ”  ครูคนนั้นได้ตายไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน  และบัดนี้ ข้าพเจ้าก็ได้ปรับปรุงหนังสือ “ปรัชญาชีวิต  ศาสตร์แห่งความสำเร็จ”  แล้วก่อนที่จะต้องมาบ่นเสียดายที่ไม่ได้ทำ
 
ข้าพเจ้าเขียนบทนำนี้   หลังจากที่คนไทยได้ร่วมเฉลิมฉลองช่วงเวลาแห่งความเป็นศิริมงคลใน “งานฉลองสิริราชสมบัติ  60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” ของเรา ใจจริงข้าพเจ้าอยากจะให้ผลงานชิ้นนี้เป็นการร่วมฉลองนี้ด้วย  หากแต่สำนึกในตนเองว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงนักแปลอิสระในหนังสือพิมพ์เล็กๆ  ที่แทบจะไม่มีความหมายเลยในโลกหนังสือ 
การอาจเอื้อมเช่นนั้นจะเป็นที่ตำหนิของคนอื่นไปเปล่าๆ  แต่ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย ซี่งรวมทั้งข้าพเจ้า  คุณพ่อของข้าพเจ้าที่ได้ล่วงลับไปแล้ว และคุณแม่ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมาเกือบชั่วชิวิตของท่าน  ข้าพเจ้าขอน้อมเกล้าฯถวายบุญกุศลใดๆ ที่อาจจะพึงมีพึงได้จากหนังสือทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้ทำมาตลอดชีวิต  โดยเฉพาะหนังสือ “ปรัชญาชีวิต ศาสตร์แห่งความสำเร็จ” เล่มนี้ เป็นพระราชกุศลแด่พระองค์
   
“เป้าหมายสำคัญในชีวิต” ของข้าพเจ้า  นับตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าได้อ่านและแปลหนังสือเล่มนี้  ก็คือ อยากจะเผยแพร่ความรู้  แนวความคิด  และปรัชญาของหนังสือเล่มนี้แก่ชาวไทย  ซึ่งตราบจนทุกวันนี้ข้าพเจ้าก็ทำได้แล้วพอสมควรแม้จะยังไม่มากเท่าที่เคยคาดหวังเอาไว้  สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะทำต่อไปก็คือ  การบรรยายและอภิปรายให้ความรู้แก่สาธารณชนทั่วไป  เพื่อให้ “ปรัชญาชีวิต”  ที่น่าจะมีประโยชน์แก่คนทุกคนนี้ "เข้าถึง"  คนที่อาจจะไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือ  หรือไม่สมารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด
   
 

ปสงค์อาสา

กรกฏาคม 2548
 
................................................................................................................