สรรเสริญ - นินทา
 
วันนี้ขอคุยกันถึงเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้น ดูซิว่าเราจะนำธรรมะมาปฏิบัติได้อย่างไร ? สถานการณ์ใกล้ตัวที่เกิดขึ้นสำหรับคนทำงานก็คงไม่พ้น การสรรเสริญและนินทา ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดมาจากการพูดของคน ซึ่งทำให้จิตมัวหมอง บางคนนำเอาคำพูดของคนอื่นมาคิดจนทำให้จิตวิตกกังวล ไม่เป็นอันทำงานและใช้ชีวิตเป็นปกติ
 
เป็นธรรมดาที่คนเรามักอยากจะได้ยินคำพูดที่ไพเราะ มากกว่าการติฉินนิทา
 
MQ คิดว่า ส่วนหนึ่งของการพูดที่มากมายนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะการพูดเรื่องที่มีประโยชน์มีสาระเท่านั้น แต่มักหนีไม่พ้นเรื่องของโลกธรรม 2 อย่างที่เกี่ยวกับการพูด ซึ่งก็คือ การสรรเสริญ และการนินทา
 
การสรรเสริญนั้นก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะสิ่งที่เป็นเรื่องราวมีสาระ หลายครั้งก็มีการชมคนที่เราชื่นชอบ เช่น เรื่องของดารานักร้อง เรื่องของนักการเมือง เป็นต้น การนินทาก็เช่นกัน การพูดตำหนิผู้ที่เราไม่ชอบ หรือไม่ถูกใจเรา ก็แอบว่ากัน ก็เป็นสิ่งที่แพร่หลายในสังคม บางทีก็เอาเรื่องที่เป็นข่าวมาพูดกันแล้วก็วิเคราะห์วิจารณ์ต่อไป บางทีก็เป็นเรื่องคนอื่นในที่ทำงาน เรื่องของนาย เรื่องของลูกน้อง เรื่องของลูกค้า เหล่านี้ก็ทำให้การพูดของเรา ยืดยาวออกไป บางทีเรื่องเหล่านี้พูดกันได้เป็นชั่วโมงๆ  
 
 
ทางแก้ก็คงต้องอยู่ที่ตัวเรา จะพูดอะไร ควรคิดดูก่อนว่า มีประโยชน์หรือไม่ เป็นความจริงไหม เหมาะกับกาลเทศะหรือไม่ แล้วค่อยพูดการพูดที่ไร้สาระ หรือพูดด้วย โลภะ โทสะ โมหะ อาจเป็นโทษต่อผู้อื่น เพราะจะชักนำให้ผู้ฟังเกิดกิเลสตามไปด้วยได้ง่าย อย่างน้อยเป็นโทษต่อตัวผู้พูด เพราะเป็นการพูดที่ประกอบด้วยจิตที่คิดไม่ดี ซึ่งควรละเว้น
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรายังอยู่ในสังคม ก็คงไม่พ้นถกูติบ้าง ชมบ้าง เพราะการสรรเสริญและนินทา เป็นธรรมประจำโลก ดังนั้น วันนี้ MQ จึงขอนำเอาพระสูตรที่เกี่ยวข้องมาเล่าสู่กันฟัง เพราะอาจนำไปเทียบเคียงได้ว่าหากมีคนอื่นมาชมหรือมาติเรา หรือคนที่เรารัก เราควรทำอย่างไร ซึ่งในพระสูตรนี้เป็นเรื่องที่มีผู้มาชมและมาตำหนิ พระรัตนตรัยเลยทีเดียว
 
สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้เสด็จดำเนินทางไกล พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาสันทา ระหว่างทางสุปปิยปริพาชกล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ส่วนพรหมทัตมาณพ กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ ถ้อยคำของคนทั้งสอง ตรงข้ามกันอย่างนี้
 
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นจะพึงกล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรเพลิดเพลิน เบิกบานใจ เพราะอันตรายจะพึงมีแก่เธอ แต่เธอทั้งหลายควรแก้ในคำกล่าวติที่ไม่จริงนั้น ให้เห็นว่าไม่จริง ไม่มีในเราทั้งหลาย และในเราทั้งหลายก็ไม่มีอย่างนั้น
 
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงสอนไม่ให้ยินดีเพลิดเพลินในคำชม และไม่ให้โกรธหรือน้อยใจในคำตินั้น คือ ไม่ให้หวั่นไหวไปกับสรรเสริญและนินทา คือ ต้องหนักแน่นแล้วจึงชี้แจงตามความจริง คนส่วนใหญ่เมื่อถูกชมหรือติก็มักขาดสติเสียแล้ว พอเขาชม ไม่ว่าจะจริงเท็จประการใด ใจก็ฟูขึ้นเหมือนลูกโป่งสูบลม พอถูกเขานินทาหรือติเตียน ใจก็ห่อเหี่ยวเหมือนรถถูกเจาะยาง ไม่ก็โกรธไปเลย การที่เราจะมีสติทำใจให้เรียบเสมอเหมือนน้ำไม่กระเพื่อม เมื่อถูกติหรือชมนั้นทำได้ยาก อีกทั้ง การสำรวมทางวาจา พูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์ ที่เป็นความจริง และถูกกาลเทศะ จะช่วยทำให้การใช้เวลากับการพูดและการพูดโทรศัพท์ลดลงได้มาก หากท่านทำได้หรือพยายามทำ ก็นับว่าท่านได้นำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นปฏิบัติบูชา ซึ่งมีประโยชน์มากทั้งต่อตัวเราและสังคมไทย...
 
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นอิงหลักธรรมะ ท่านสามารถส่งคำถาม หรือข้อติชม ทาง e-mail มาได้ที่ mqtalk@thai.com
 
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ โพสต์ TODAY ฉบับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550
 
 
...................................................................................................................