ตอนที่ 17
 
อุปนิสัยที่ 6 : ผนึกพลัง....ประสานความต่าง (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
มีบางสถานการณ์ที่ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะพยายามมีความเข้าใจ  มีความจริงใจ  เปิดใจสุดๆแล้วก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
 
COVEY แนะนำว่าทัศนคติที่ทั้งสองฝ่ายต้องรักษาไว้ให้ได้คือ….การเห็นคุณค่าของความแตกต่าง  และกำจัดแนวคิดของตนที่มักจะมองโลกตามที่ตนเองอยากจะเห็น !
คนที่มีประสิทธิผลจริงๆแล้วจะเป็นคนถ่อมตน (Humility) กล้ายอมรับข้อจำกัดของตนเองชื่นชมความสามารถของผู้อื่น  และยอมรับในใจตนเองว่าความแตกต่างเหล่านั้นทำให้เขาได้เรียนรู้มากขึ้น  เข้าใจอะไรได้มากขึ้น
พร้อมกับดีใจอยู่ลึกๆว่าหากไม่มีความแตกต่างเสียแล้ว  ตนเองจะต้องทนทุกข์ไปกับความไม่รู้ของตนเองไปอีกนานเท่าไรก็ไม่รู้ !
 
ไม่รู้ว่าชีวิตไม่ได้มีเพียง “ถูก” หรือ “ผิด” ตามที่ตนถนัดเลือกที่จะคิดเท่านั้น…. ชีวิตยังมี “ทางเลือกที่สาม” ! ที่ตนไม่เคยรู้มาก่อน !
   
ทางที่สามนี้อาจจะมาจากส่วนผสมของสองแนวคิดที่แตกต่าง เกิดเป็นทางใหม่ที่ส่วนรวมได้ประโยชน์มากกว่าความคิดของคนใดคนหนึ่งอย่างเดียว
   
ความคิดที่สามอาจจะมาจากแนวคิดใหม่ที่นึกขึ้นได้สดๆจากการถกกันด้วยความจริงใจ เปิดใจกันของทั้งสองฝ่าย  จนต่างได้รับข้อมูลและมุมมองที่กว้างขวางขึ้นๆ จนในที่สุดและทั้งสองฝ่ายร่วมกันนำข้อมูลใหม่นั้นมาสร้างเป็นทางออกที่สามร่วมกันจนเห็นพ้องกันว่าส่วนรวมได้ประโยชน์มากกว่า (ไม่ใช่การประนีประนอมเพื่อให้จบความยุ่งยากหลังจากยื้อกันไปมาอยู่นานและหมดแรงแล้ว-เข้าลักษณะ  แพ้ / ชนะ มากกว่า)
   
ด้วยอุปนิสัยที่ 4 (คิดแบบ ชนะ / ชนะ) และทักษะจากอุปนิสัยที่ 5 (เข้าใจผู้อื่นก่อนแล้วจึงให้เขาเข้าใจเรา) และความจริงใจในการผนึกพลังประสานความต่างจะทำให้เราเห็นทางเลือกที่สาม  เมื่อมีใครไม่เห็นด้วยกับคุณ  คุณอาจพูดว่า “ดีมาก  ที่คุณไม่เห็นด้วยกับผม  ที่จริงคุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย  ขอเพียงแต่คุณบอกมาว่าคุณคิดอย่างไรในเรื่องนี้  เพื่อที่ผมจะเข้าใจคุณและเราจะได้หาทางออกด้วยกัน”
กรณีตัวอย่างของการหาทางเลือกที่สามของ COVEY :
ครอบครัวหนึ่งที่สามีได้วางแผนที่จะพาครอบครัวไปพักผ่อนตั้งแคมป์และตกปลาที่ทะเลสาบ
เขาวางแผนล่วงหน้าเป็นปี  จองกระท่อมริมทะเลสาบ จัดเตรียมเรือเช่าไว้ และลูกชายของเขาก็ตื่นเต้นกับการไปเที่ยวครั้งนี้มาก แต่แล้ว  ก่อนกำหนดวันเดินทางเพียงเดือนเดียว  จู่ๆภรรยาก็เปลี่ยนใจอยากไปเยี่ยมแม่ที่ป่วยซึ่งอยู่ห่างออกไป 300 กิโลเมตร
เธอไม่มีโอกาสอย่างนี้บ่อยนัก  และเธอก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ความแตกต่างของเขาทั้งสองดูเหมือนจะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ยากลำบากแก่ทั้งคู่
ฝ่ายสามีพูดออกมาว่า “ผมวางแผนไว้หมดแล้ว  ลูกๆก็ตื่นเต้นที่จะไปทำไมเราไม่ไปตกปลา ?”
 
“แต่เราไม่มีทางรู้ว่าแม่ของฉันจะอยู่ได้อีกนานเท่าไร  และนี่เป็นโอกาสโอกาสเดียวที่ฉันจะได้อยู่กับท่าน”ภรรยาตอบ
 
“ตลอดทั้งปีเรามีเวลาหยุดพักผ่อนยาวเพียงช่วงนี้เท่านั้น  ที่จริงแม่คุณก็ไม่ได้ป่วยมากนักและน้องสาวของคุณก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านของแม่คุณ  เขาดูแลได้อยู่แล้ว”สามียืนกราน
   
“ท่านเป็นแม่ของฉัน  ฉันต้องการอยู่กับแม่”เธอยืนยันความคิดเดิม
เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้  ในที่สุดทั้งสองอาจเลือกต่างคนต่างแยกกันไปตามที่ตนต้องการโดยที่มีความรู้สึกผิดในใจ  และไม่มีความสุข  เด็กๆก็จะรู้สึกได้ว่าบรรยากาศไม่ดีเท่าที่การมีแม่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา  กรณีนี้เปรียบเหมือนการประนีประนอมกัน   แต่ผลของมันเป็นเหมือน 1+1=1.5คือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
สามีอาจยอมแพ้ภรรยาโดยการไปเฝ้าไข้แม่ของเธอด้วยกันทั้งบ้านแต่เขาจะทำอย่างไม่เต็มใจ  พร้อมกับแอบคิดในใจว่ามันช่างเป็นวันหยุดที่แย่มากสำหรับทุกคน(กรณีนี้เป็น แพ้ / ชนะ)ภรรยาอาจยอมแพ้สามีของเธอด้วยการตัดสินใจไปเที่ยวกับครอบครัวแต่ในใจเธอคงไม่สนุกด้วยด้วยความห่วงใยสุขภาพของแม่ของเธอ  และถ้าแม่เธอเกิดเสียชีวิตในระหว่างนี้  เธอคงไม่ให้อภัยตนเอง และไม่ให้อภัยสามีด้วย(กรณีนี้เป็น แพ้ / ชนะ)ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดจากที่กล่าวมา  มันมีโอกาสที่เหตุการณ์นี้จะถูกนำมากล่าวถึงครั้งแล้วครั้งเล่าใน
อีกหลายปีต่อมาว่าเป็นตัวอย่างของความไม่ใส่ใจ  ไม่ใยดี  เป็นการตัดสินใจที่เลวร้าย  และทำลายบรรยากาศที่เคยดีลงไป  !
แต่โชคยังเหลืออยู่บ้างที่ทั้งสองมีบัญชีออมใจที่มากพอพวกเขาจึงไว้วางใจกันและสื่อสารกันอย่างเปิดเผยด้วยกรอบความคิดแบบ ชนะ / ชนะ  ซึ่งเป็นทางออกที่จะให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย  และดีกว่าทางเลือกของแต่ละคนในตอนแรก  เนื่องจากพวกเขาฟังด้วยความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งก่อน  และใช้เหตุผลของอีกฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน
   
และเมื่อต่างเข้าใจกันและกันถึงความสำคัญของอีกฝ่ายอย่างลึกซึ้ง  ทั้งสองคนจึงยืนอยู่ฝั่งเดียวกันแล้วมองไปที่ปัญหาของครอบครัวที่อยากช่วยกันแก้ด้วยการหาทางเลือกที่สาม :
   
“เราจะเลื่อนไปเป็นวันอื่นภายในเดือนนี้เพื่อให้คุณไปเยี่ยมแม่ได้  จากนั้นเราก็ไปพักผ่อนด้วยกันตามแผนเดิมดีไหม ?”สามีเสนอ
   
“หรือเราสามารถหาสถานที่ตั้งแคมป์ใกล้บ้านแม่คุณ  เพื่อที่คุณสามารถไปเยี่ยมแม่ได้  และกลับมาร่วมทำกิจกรรมกับเด็กๆได้เหมือนกัน  ผลที่ได้ก็เหมือนกันดีไหม?”
   
พวกเขาผนึกพลังประสานความต่างจนได้ข้อสรุปที่ทั้งสองพอใจ  ดีกว่าแนวทางที่แต่ละคนคิดไว้แต่แรก  ดีกว่าประนีประนอมที่ต่างคนต่างไป  ทั้งสองได้ทางออกที่สามที่ได้ทั้ง PC และ P !
   
   
   
ไม่น่าเชื่อว่าเราเดินมาได้ 6 อุปนิสัยแล้ว  ถึงจุดนี้เราคงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองบ้างแล้วว่ามุมมองที่เรามีต่อตนเอง  ต่อผู้อื่นที่ร่วมงานด้วยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นใช่ไหมครับ….คราวหน้าเจอกันครับ….อุปนิสัยที่ 7 ที่เรารอคอย