MIT Media Lab

 

หากพูดถึง MIT แล้วท่านผู้อ่านหลายๆท่านคงจะทราบว่าหมายถึง Massachusetts Institute of Technology ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยติดอันดับท็อปเท็นของโลก  แต่ก็คงมีท่านผู้อ่านไม่น้อยที่ยังไม่เคยได้ยินชื่อ Media Lab เลย จึงจะขออนุญาตเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่าเจ้า  Media Lab นี้มันคืออะไร  และมีอะไรให้เราเรียนรู้ได้บ้าง

 

 
อย่างแรกเลยนะครับ คือ การเป็นผู้ให้กำเนิดโครงการโน้ตบุ๊ก 100 เหรียญ ไงครับ ที่บ้านเรารัฐบาลเคยประกาศว่าจะนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาคอมพิวเตอร์ราคาถูกที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาสามารถมีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใช้ในการศึกษาค้นคว้าสำหรับการเรียนรู้ได้
Media Lab เป็นเสมือนโรงงานผลิตนวัตกรรมชนิดสุดยอด ของโลกเลยทีเดียว ล่าสุดคือการประกาศโครงการสร้างพาหนะส่วนบุคคลขนาดเล็กนั่งได้ 2 คน
สามารถเก็บได้เหมือนกับรถเข็นที่เราใช้กันเวลาไปช็อปปิ้งตามห้างเลยครับ  เวลาจะใช้ก็ไปจ่ายเงินก่อนแล้วค่อยดึง (ถอย) เอารถออกมาใช้งาน ใช้เสร็จก็นำไปจอดเหมือนกับเราเก็บรถเข็นยังไงยังงั้น แนวคิดของผู้สร้างก็คือ  ให้เป็นรถที่ใช้งานจริงในใจกลางเมืองใหญ่ๆ ที่มีระบบขนส่งมวลชนอย่างรถใต้ดิน เพื่อลดปัญหาการจราจรคับคั่งที่ใกล้เข้าสู่ระดับวิกฤตตามเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีพื้นที่
จำกัดไม่สามารถขยายถนนได้อีก เขาก็จะนำรถที่เรียกว่า ซิตี้คาร์ (City Car ) นี้ ไปวางตามสถานีใหญ่ๆ เพื่อให้คนสามารถขับไปทำงานต่อหรือไปยังระบบขนส่งมวลชนระบบอื่นๆที่มีสถานีรถซิตี้นี้เหมือนกัน พอทำงานเสร็จก็ขับกลับมาจอดที่สถานี เสียบรถเข้าไปข้างท้ายแล้วก็จ่ายเงินสะดวกสบาย  และไม่ต้องคอยกังวลเรื่องซ่อมบำรุง เสียค่าใช้จ่ายตามการใช้เงินจริง  และไม่กินน้ำมันเพราะใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อน รถจะรีชาร์จทุกครั้งที่ เข็นเก็บเข้าแถวถือเป็นนวัตกรรมชิ้นสุดยอดอีกชิ้นที่ช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของรถยนต์บนท้องถนน  และยังช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีกด้วย แก้ทั้งปัญหาการจราจรและปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกัน

 

นอกจากนี้ Media Lab ยังมีโปรเจ็คต์ที่น่าทึ่งอย่างไฮเปอร์สกอร์ (Hyperscore) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนภาพให้กลายเป็นเสียงดนตรีได้  อันเป็นสินค้าขายดีที่เด็กๆ ชอบมากเพราะสามารถสร้างเพลงของตัวเองได้ด้วยการลากเส้นและใช้สีต่างๆ โดยปัจจุบันบริษัท Fisher-Price ได้นำออกสู่ตลาดอเมริกาแล้วในชื่อ Symphony Painter TM

โปรเจ็คต์คล้ายกันคือ  แอมเบียนแอดดิชั่น (Ambient Addition) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีหน้าตาคล้ายกับโซนี่วอล์คแมน แต่พิเศษตรงที่สามารถเปลี่ยนเสียงต่างๆ รอบตัวเราให้กลายเป็นเสียงดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้  โดยไม่ต้องจ่ายสตางค์เพื่อซื้อเพลงที่มีลิขสิทธิ์หรือต้องใช้เพลงที่ดาวน์โหลดมาอย่างผิดกฎหมายอีกต่อไป ถ้าท่านเบื่อเจ้านายหรือเบื่อภรรยาบ่นมากๆ  ก็สวมหูฟังแอมเบียนแอดดิชั่น เข้าไปแล้วท่านอาจจะได้ฟังเพลงเมทัลร็อคหรือเพลงฮิพฮอพแทนก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าเจ้านายหรือภรรยาท่านบ่นเสียงสูงหรือเสียงต่ำบ่นเร็วหรือบ่นช้า และมีเสียงตำน้ำพริกประกอบด้วยหรือเปล่า

Media Lab เป็นที่รวมของสุดยอดนักวิจัยของโลกเลยนะครับมีคนทำงานในศูนย์วิจัยนี้มากกว่า 100 คนและยิ่งไปกว่านั้น Media Lab ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนของนักศึกษา MIT ในระดับโท-เอกอีกด้วย ปัจจุบันมีนักศึกษากว่า 135 ที่ทั้งวิจัยทั้งเรียนไปด้วย ส่วนนักศึกษาปริญญาตรีที่มีความสามารถมากๆ ก็เข้าร่วมงานใน Lab ได้ผ่านโครงการ Undergraduate Research Opportunities Program (UROP)
เผลอๆเข้า โปรเจ็คต์เรียนของตัวเองก็อาจจะกลายเป็นโปรเจคต์สร้างเงินก็ได้ บางคนถึงขนาดหยุดเรียนไปเป็นเถ้าแก่เลย เพราะที่ Media Lab นี้เป็นแหล่งบ่มเพาะให้กำเนิดบริษัทใหม่มากกว่า 55 บริษัทเลยทีเดียว
งบประมาณที่ Media Lab ใช้ในแต่ละปีก็ไม่มากไม่น้อยแค่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาทเท่านั้นเอง (ต้องขอบอกว่ามากกว่างบประมาณของมหาวิทยาลัยไทยหลายๆแห่งอีกครับ แต่ไม่ต้องน้อยใจไป  เพราะทั้งประเทศไทยนี้ภาครัฐทั้งหมดรวมกันมีงบประมาณวิจัยแค่ 16,500 ล้านบาท
ในขณะที่ภาคเอกชนไทยลงทุนทำวิจัยกันปีละ 6,000 ล้านบาท) ลองคิดดูว่านี่แค่แล็บวิจัยที่เดียวในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นเอง ยังไม่ใช่งบวิจัยของ MIT ทั้งหมดด้วยซ้ำ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าบ้านเราควรเพิ่มให้ได้เท่าเขานะครับ เพราะเพิ่มงบวิจัยเนี่ยมันดีแน่ๆอยู่ แต่การแต่การจะหาเงินมาเพิ่มให้นักวิจัยที่ว่ายากแล้ว การจะไปซักชวนให้นักการเมืองหรือผู้ใหญ่ต่างๆ สนับสนุนเนี่ยยากยิ่งกว่ายาก ปากก็บอกว่าดีๆ สนับสนุนๆทั้งนั้น แต่ไม่สามารถทำอะไรให้เป็นรูปธรรมมากกว่านั้นได้  ไม่รู้ว่าเพราะอะไร กรรมมันบังตาจริงๆ
   
ท่านอาจารย์ ดร.สุวิทย์  เมษินทรีย์ เอง ก็มีความเห็นว่าประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้ต้นแบบ Media Lab ได้ โดยให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช .) ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนให่เกิดการรวมตัวกันระหว่างนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง สนช. สามารถสนับสนุนทุนในการพัฒนาต้นแบบเพื่อการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม  ตลอดจนถึงการสร้างโรงงานเพื่อเดินสายการผลิต
และถ้า โครงการนั้นมีความเป็นไปได้สูงมากก็อาจจะร่วมลงทุนเพื่อขยายสเกลการผลิตก็ได้  และขณะนี้ทาง สนช. กับ ดร.สุวิทย์ กำลังช่วยกันพิจารณาความเป็นไปได้ของการก่อตั้ง Bangkok Media Lab ขึ้นอย่างขะมักเขม้น นับเป็นก้าวสำคัญของวงการนวัตกรรมที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งครับ
ท่านผู้อ่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมลองเข้าไปเยี่ยมชมที่ www.media.mit.edu

 

 

ไทยเราจะเดินไปตามแนวคิดนวัตกรรมของ สนช.ได้แค่ไหนหนอ?
 
ทุกวันนี้ยังไม่มีรัฐบาลไหนจัดเกรดให้ กระทรวงศึกษาธิการเป็นเกรด A เลย! ทั้งประเทศจึงมีฐานเงินเดือนครู ที่ต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ !
 
หาก "ฐานเงินเดือนครู" ; ปัญหาเฉพาะหน้ายังทำดีไม่ได้ แล้ว "เรื่องอนาคตอย่างนวัตกรรม" ละ?
 
อย่างไรก็ตาม หากเห็นความสำคัญของ "ความยั่งยืน" แล้วละก็... ก็ต้องผลักดัน "นวัตกรรม" ให้ดีที่สุด...
 
อย่าปล่อยให้ตายซาก!
 
พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management