30 วิธีเอาชนะโชคชะตา
 
The Luckiest Man in the World
โดย...บัณฑิต   อึ้งรังษี
 
 
Rule 27 --การอิจฉา  จะนำโชคร้ายมาเพิ่ม--
 

เวลาที่เราอิจฉา  มันสมองของเรากำลังมุ่งไปที่ที่ผิดคือมุ่งไปที่สิ่งที่คนอื่นมี  แต่ที่เราไม่มและเพราะกฎธรรมชาติของโลก ที่ว่า “You get more of what you focus on .” ไม่ว่าสิ่งใดที่คุณเพ่งความสนใจไป สิ่งนั้นคุณจะมีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นความจน  ความป่วย ความสุข ฯลฯ  ยิ่งคุณมุ่งคิดไปในสิ่งที่คนอื่นมีและคุณขาด  ความรู้สึกด้อยนั้นก็จะมีมากขึ้น

การอิจฉาเป็นการตอกย้ำแก่จิตใต้สำนึกของเราว่า ของที่เรามีมันไม่ดีพอ เป็นอารมณ์ที่เป็นทางลบมาก คนที่อิจฉาคนอื่นจะไม่ช่วยให้โชคดีขึ้น
สภาพจิตใจที่หมกหมุ่นอยู่กับการอิจฉาไม่่สามารถนำสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตได้
คนโชคดีจะยินดีกับคนอื่น เมื่อเขาได้ดี หรือประสบความสำเร็จ

 

 

 

Rule 28 --อย่าพูดว่า  คู่แข่งหรือคนที่คุณไม่ชอบ “โชคดี”--
“ความโชคดี คือ วิธีการอธิบายความสำเร็จของผู้อื่น (ที่เราไม่ชอบ)”
--ฌอง คอคโต-- นักเขียนชาวฝรั่งเศส

 

เคยมีวาทยกร (คอนดักเตอร์) คนหนึ่งมาพูดกับผมว่า “คุณบัณฑิตโชคดีจัง  ได้ทำงาน กับวงดีๆ เล่นเพราะๆตลอด ส่วนผม “ฟ้ามันลิขิต”มาอย่างนี้ เลยต้องทำงานกับวงอย่างนี้” ผมฟังแล้วก็มาคิดว่า จริงหรือที่ผม “โชคดี” กว่าคนอื่น
 

มีคนเคยถาม ฌอง คอคโต  นักเขียนคนสำคัญของฝรั่งเศส ว่าเขาเชื่อในเรื่องโชคลางหรือไม่ ท่านตอบว่า “เชื่อสิ ไม่งั้นเราจะอธิบายความสำเร็จของคนที่เราไม่ชอบได้อย่างไร”

สิ่งที่ผู้พูดคนนั้นไม่เคยเห็นเลยก็คือว่า  ผมทำงานหนักแค่ไหนเพื่อที่จะเป็นเลิศในสาขาที่ผมอยากเก่ง และผมมีวิธีการคิดต่างจากคนทั่วไปอย่างไร (“คิดต่างกันทำให้อนาคตต่างกัน” ตอนหนึ่งจากหนังสือ “ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้ ” ของผม)  และยังต้องใช้ความอดทน และไม่ย่อท้อเอาชนะความ “ไม่ยุติธรรม” บางอย่าง เช่น  การที่มาจากประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้มีระบบส่งเสริมทางด้านเพลงคลาสสิกและการไม่มีเครือข่ายในประเทศของตัวเอง (ทำให้จำเป็นต้องไปทำมาหากินในประเทศอื่น)
สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคำพูดของคนคนนี้ก็คือเมื่อไรที่ผมเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเขา “โชคดี” มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้ ไม่มีทางได้เห็นเบื้องหลังความสำเร็จของเขา  จริงๆแล้ว เป็นการ "ดูถูก" ความสามารถของเขานิดหน่อยด้วย ว่าที่เขาประสบความสำเร็จไม่ใช่เป็นเพราะความสามารถจริงๆเป็นการ “อธิบายความสำเร็จของคนที่คุณไม่ชอบ” (หรืออิจฉา)
แน่นอน มี “สิ่งอัศจรรย์” เกิดขึ้นมากมายระหว่างผมเดินหน้าเข้าหาฝัน และ “สิ่งอัศจรรย์” เหล่านั้น เมื่อคนทั่วไปเห็นก็ด่วนสรุปว่าเป็น “โชคดี”

แต่สิ่งที่เขาไม่รู้ก็คือว่า สิ่งอัศจรรย์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  ถ้าตัวผมไม่ :

หนึ่ง มีเป้าหมายที่ชัดเจน และสอง  ทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ ผมไม่ปฎิเสธเลยว่า  เมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนบางครั้งเหมือน “ฟ้าเป็นใจ”  โยนสถานการณ์ที่ดีเข้ามาให้  สถานการณ์ที่ทำให้เราเดินหน้าได้ อย่างรวดเร็วมากขึ้นไปอีก  ข้ามไปหลายขั้นตอน

เมื่อตอนผมออกจากประเทศไทยไปเพื่อหวังจะ “เอาชนะ” โชค ผมคิดเปรียบเทียบกับตนเองว่า คงเป็นเหมือนเดวิดกำลังจะพยายามเอาชนะโกไลแอท  ถ้าใครไม่เคยได้ยินเรื่องเดวิดกับโกไลแอท เรื่องย่อๆมีดังนี้ครับ
เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยประมาณ 500 ปีก่อนพุทธศักราช  ยักษ์ใหญ่โกไลแอท มาท้ากองทัพของอิสราเอล ให้ส่งคนที่เก่งที่สุดมาสู้กับเขา  กองทัพของคนที่แพ้ต้องยอมเป็นทาสของอีกฝ่าย  กองทัพอิสราเอลไม่มีใครกล้าในที่สุด  เดวิด เด็กวัยรุ่นตัวเล็กๆก็อาสาสมัคร ทุกคนจะให้เขาเอาอาวุธที่ดีที่สุดไปสู้  แต่เดวิดปฏิเสธหมด
เพราะเชื่อในพระเจ้าของเขา เดวิดเอา แค่หนังสติ๊กไปอันเดียว พร้อมกับก้อนหินเล็กๆห้าก้อน  และในที่สุดก็ ฆ่าโกไลแอทได้ด้วยการยิงหนังสติ๊กเพียงครั้งเดียว

 

ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้  การที่คนไทยคนเดียวหัวเดียวกระเทียมลีบ  จะไปไขว่คว้าเอาสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่สมัยนั้น  นอกจากจะไม่มีระบบส่งเสริมแล้ว  ไม่เข้าใจและไม่สนใจด้วยซ้ำว่าทำไปทำไม และต้องไปต่อสู้กับคนที่มาจากประเทศที่มีเงินมากมาย  มีระบบส่งเสริมมหาศาล (เช่น ญี่ปุ่น ฟินแลนด์  อเมริกา ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  เยอรมนี  อิตาลี ฯลฯ) หรือคนที่มีเส้นสายในทางดนตรีคลาสสิกมาก่อนอยู่แล้ว
รู้ระบบว่าต้องเดินอย่างไร พ่อแม่อยู่ในวงการมานาน หรือคนที่มีพ่อแม่เป็นเศรษฐี (ส่วนใหญ่คนที่จะเล่นเพลงคลาสสิกเป็นอาชีพ พ่อแม่ต้องมีสตางค์พอสมควรเพราะการศึกษาแพงมาก และโอกาสสำเร็จน้อยมาก แทบไม่เกิน 5 %) หรือมีอำนาจมากสามารถดันลูกตัวเองให้ได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่น
ผมเป็นเหมือนเดวิดตัวน้อยๆ ที่กำลังพยายามเอาชนะยักษ์ใหญ่โกไลแอทแห่งอุปสรรค
ในโลกนี้ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอเมื่อเรามีความเชื่อและความกล้า การ “โค่น” โกไลแอทไม่ได้มีอยู่วิธีเดียว ถ้าคิดแบบคนทั่วไปการต่อสู้กับโกไลแอทต้องใช้กำลังร่างกายไปต่อสู้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางชนะถ้าเราตัวเล็กกว่ามาก
ถ้าคิดแบบเดวิด ไม่จำเป็นที่ต้องชนะด้วยกำลังเสมอไป ใช้ “เครื่องทุ่นแรง” (ในกรณีนี้เป็นหนังสติ๊ก) ก็ได้
แต่ถ้าอาศัยความกล้า ความเชื่อ สิ่งปาฎิหาริย์ เกิดขึ้นได้ และสิ่ง “ปาฎิหาริย์” เหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นกับผมจริงๆ สิ่งปาฎิหาริย์เหล่านั้นเป็นเหมือน “เครื่องทุ่นแรง” ให้เราสำเร็จได้เร็วขึ้น
มีหลายครั้งที่เมื่อเรา “ฝันใหญ่” เหมือนกับพลังต่างๆในโลกนี้ก็ “เป็นใจ” และ “เห็นด้วย” และให้ความร่วมมือกับเรา สิ่งนี้สำหรับคนที่ไม่รู้กฎของโลกก็เรียกว่า “โชคดี”
แต่ความ “โชคดี” ของผมเหล่านั้น ผมสามารถอธิบายได้หมดว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น เป็นเพราะผมคิดต่างกัน ผลที่ได้รับจึงได้ต่างกัน ที่แน่ๆ เรื่องการสร้างโชค เป็นเรื่องที่สอนกันได้ ผมก็เริ่มจากที่ไม่เป็น ศึกษาอ่านจากหนังสือเกี่ยวกับการสร้างความสำเร็จ (และสร้าง “โชค”) ต่างๆ และก็ได้ผลที่เหลือเชื่อต่างๆมากมาย
ความฝันของผมคือ คนไทยที่เก่งในสาขาต่างๆไม่ว่าจะเป็นกีฬา วิทยาศาสตร์ ดนตรี ฯลฯ สักวันหนึ่งเราจะโค่น “โกไลแอท” ของประเทศมหาอำนาจ ดันตัวเราเองจากประเทศที่เป็น “เดวิด” น้อยๆตอนนี้ ให้เป็นประเทศที่มีศักยภาพบุคคลอันยิ่งใหญ่ ด้วยการคิดที่แตกต่างเท่านั้นเอง
 
สรุปแล้ว เวลาเราเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ เราไม่ควรบอกว่าเขาโชคดี เพราะ
1.ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะคุณ “อิจฉา”
2.การที่คนอื่นประสบความสำเร็จหรือได้สิ่งดีๆมีเหตุเสมอ ไม่ว่าคุณจะเห็นเหตุนั้นหรือไม่ก็ตาม (ดูกฏข้อ 4 “กฏแห่งเหตุและผล”)
3.เป็นการ “ดูถูก” คนอื่นนิดๆ

 

 
ในขณะที่คนไทยเราชอบพูดว่า "คนนั้นโชคดี" ,"คนประเทศนั้นโชคดี" คนญี่ปุ่น กลับ สร้าง "วัฒนธรรมสร้างความโชคดี" มากมาย โดยผ่านทาง...
 
TV-Champion...ที่คนในทุกสาขาอาชีพแข่งกันเพื่อความเป็นเลิศ...หรือ
 
เกมส์ซ่าท้ากึ๋น...ที่ส่งเสริมให้คนในทุกครอบครัวสร้าง "Inno-tainment" ที่ได้ "ความคิดสร้า้งสรรค์" ,"ความผูกพันธ์ในครอบครัว" ,"ความสำราญ" ไปพร้อมๆ กัน
 
 
พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management