TAKAHASHI  KOREKIYO ผู้สร้างญี่ปุ่นด้วยนวัตกรรม

 

มีคนกล่าวกันเล่นๆมานานแล้วครับว่า ญี่ปุ่นกับไทยนั้นเริ่มต้นปฏิรูปประเทศพร้อมๆกัน ของเราก็ตรงกับสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ส่วนของญี่ปุ่นก็เรียกกันว่า ยุคสมัยของการปฏิรูปเมจิ  100 กว่าปีที่ผ่านไป  เรากับญี่ปุ่นก็ห่างไกลกันเหลือเกินครับ  ถ้าหากเราศึกษาประวัติศาสตร์ดีๆ จะพบว่า  ยุคสมัยโน้นทั้งเราทั้งญี่ปุ่นก็เริ่มต้นพัฒนาอะไรต่ออะไรหลายๆอย่างพร้อมๆกัน  ทั้งการรถไฟ  ไปรษณีย์  การศึกษา  ฯลฯ

น่าคิดใช่ไหมครับว่าอะไรหนอที่ทำให้เราต่างจากเขาเหลือเกิน  ตัวเราหรือก็ไม่ได้ต่ำเตี้ยกว่าเขาสัักเท่าไร  ผิวพรรณก็สีเหลืองเหมือนกัน  กินข้าวก็เหมือนกันแม้จะข้าวคนละพันธุ์ก็เอาเหอะ

วันนี้ผมเลยจะพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับคนญี่ปุ่นสักท่านหนึ่งนะครับ  ที่ในวงการของญี่ปุ่นถือกันว่าเป็นบิดาของการพัฒนาญี่ปุ่นสมัยใหม่คนหนึ่งเลยทีเดียว  ท่านผู้นี้ชื่อว่า  ทาเกฮาชิ  โคเรคิโย ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของกรมทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่น ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศญี่ปุ่นเลยเชียว  ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นคนทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมคนเดียวในโลกที่เติบโตไต่เต้ามาจนกระทั่งเป็นผู้นำของประเทศได้  ตรงนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเยอะครับ 
อย่างแรกคือคุณโคเรคิโย  แกเป็นคนที่เติบโตมาในรอยต่อของสมัยเอโดะ(Edo)กับสมัยของการปฏิรูปเมจิ(meji Era)และสมัยประชาธิปไตยเพิ่งเริ่มต้นในญี่ปุ่นครับ  ช่วงสมัยเอโดะนั้น  ซามูไร  ขุนนาง  และโชกุนยังครองเมืองเป็นใหญ่อยู่  แล้วก็มีวัฒนธรรมประหลาดคือห้ามคิดของใหม่เด็ดขาด  นวัตกรรมในญี่ปุ่นยุคนั้นคือเรื่องต้องห้ามนะครับ  ใครทำหัวใส สมองดีนี่ถือว่ากระด้างกระเดื่องต่อรัฐ
และมีการลงโทษลงทัณฑ์พอสมควร  เพราะในยุคนั้นญี่ปุ่นยึดนโยบายปิดประเทศ  ไม่คบค้ากับใคร  ไม่สุงสิงกับใคร  ไม่รับเอาความเจริญใดๆทั้งสิ้น  ในสมัยนั้นมีเพียงชาวฮอลันดาหรือดัทช์ หรือเนเธอร์แลนด์ในทุกวันนี้  เท่านั้นที่ยังพอจะคบหากับญี่ปุ่นอยู่บ้าง  บรรดาความรู้ทางตะวันตกก็เลยพอจะไหลๆเข้ามาผ่านชาวฮอลันดานี่เอง  ยุคสมัยนี้เป็นยุคที่ระบบโชกุนนั้นเรืองอำนาจมากครับ  มีโชกุนโตกุกาว่า (Tokugawa ) เป็นผู้นำผู้ี่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลที่คนไทยรู้จักกันดี

ตั้งแต่ปีค.ศ.1639 (ที่ญี่ปุ่นประกาศนโยบายปิดประเทศ)จนถึงปีค.ศ.1854 (ซึ่งท่านนายพลแมทธิว เพอร์รี่แห่งสหรัฐอเมริกาใช้นโยบายเรือปืนบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเพื่อทำการค้าขาย)นั้น  ญี่ปุ่นเน้นหนักที่การค้นคว้าตัวตนของตนเอง  มีการศึกษารากเหง้าและวัฒนธรรมตนเองอย่างลึกซึ้งตลอดเวลากว่า 200 ปี  ซึ่งใช่ว่าจะไร้ประโยชน์นะครับ  การปิดประตูทบทวนตัวเองอย่างนานของญี่ปุ่นในสมัยเอโดะนี้  กลับกลายเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของการพัฒนาประเทศในยุคต่อไป  คือเท่ากับว่า "รู้ตัวตน" ก่อนแล้วจึงจะรับเอาวัฒนธรรมและความเจริญของ "ผู้อื่น" โดยเฉพาะทางตะวันตกในสมัยเมจิ

 

จริงๆแล้วเราต้องโทษนายพลแมทธิวครับ  เพราะถ้่าแกไม่ไปบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศเสียแล้วตอนนี้พี่ไทยเราอาจจะนำหน้าญี่ปุ่นอยู่บ้างเล็กน้อยก็ได้นะครับ  แต่สุดท้ายก็กงกรรมกงเกวียน  เพราะในเวลาอีกไม่นานญี่ปุ่นก็พัฒนาเร็วมากจนสามารถไปที้งระเบิดอันลือลั่นใส่กองทัพสหรัฐ ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ใน ปีค.ศ.1941
ดูเอานะครับในเวลาเพียง 87 ปี ญี่ปุ่นสามารถพลิกสถานะกลับจากการเป็นผู้ถูกรุกราน  กลายเป็นผู้รุกรานบ้างเข้าให้  เพียงช่วงชีวิตของคนๆหนึ่ง  อย่างน้อยเท่านั้นนะครับ  อย่างมากก็ไม่เกิน2ช่วงอายุคน  ญี่ปุ่นกลายมาเป็นมหาอำนาจผู้พลิกชะตาโลกได้

ในช่วงปลายๆของสมัยปฏิรูปเมจินั้น  ญี่ปุ่นได้พัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมอย่างมาก  พร้อมๆกับเหล่าทหาร  ก็เรืองอำนาจมากขึ้นและนำไปสู่ความคิดในเรื่องของการขยายอำนาจของประเทศออกไปจนกระทั่งเกิดสงครามกับจีน  รัสเซีย  เกาหลีและไต้หวัน  หลังจากซ่ากับประเทศเพื่อนบ้านพอหอมปากหอมคอแล้ว  ญี่ปุ่นก็เลยออกไปซ่าได้ไกลขึ้นจนถึงหมู่เกาะฮาวายที่เพิร์ล  ฮาร์เบอร์  ดังที่เรียนให้ผู้อ่านทราบแล้ว

ย้อนกลับมาที่คุณโคเรคิโยครับ  แกเกิดในสมัยรอยต่อของการปฏิรูปและลัทธิชาตินิยมก็จริงแต่ก็ได้รับการศึกษาที่ทันสมัยนะครับ  คุณโคเรคิโยแกเป็นลูกบุญธรรมของซามูไร  และได้มีโอกาสเรียนหนังสือฝรั่งกับเขาบ้าง  ภายหลังได้ศึกษาที่อังกฤษอีกด้วยเมื่อกลับมาญี่ปุ่นก็ได้รับราชการในกระทรวงศึกษาและกระทรวงพาณิชย์  ต่อมาได้วางรากฐานเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาจนได้ัรับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสิทธิบัตรของญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นปฐมบท  ฉากแรกของการรังสรรค์นวัตกรรมในญี่ปุ่นอย่างมโหฬาร

ต้องเรียนท่านผู้อ่านนิดนะครับ  อังกฤษนั้นถือเป็นประเทศต้นแบบของกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญา  ดังนั้น สิ่งที่คุณโคเรคิโยได้เรียนรู้มาจึงมีคุณค่าไม่น้อยในเวลาที่เขากลับมาบ้านเกิดเมืองนอน

เรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับนวัตกรรมนี่สัมพันธ์กันมากนะครับ เหมือนกับไก่กับไข่ ยังไงยังงั้น  คือมันต้องเกิดพร้อมๆกัน จึงจะสร้างพลังมหาศาลได้  หากญี่ปุ่นเน้นแต่การสร้างนวัตกรรมโดยไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเท่าที่ควร  ไอ้ที่ทำๆไปก็จะถูกลอกเลียนแบบได้ง่ายๆคนสร้างสรรค์ก็หมดกำลังใจ  คนจะคิดต่อไปก็ไม่อยากจะทำ  นวัตกรรมก็ไม่เกิดขึ้น
 
ในทางกลับกัน หากมาส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเดียวโดยไม่ส่งเสริมนวัตกรรม  ก็เหมือนกับมีถนนซีเมนต์อย่างเดียวแต่ไม่มีรถวิ่งนะแหละครับ  ต้องปล่อยให้วัว  ควายมาเดินเหมือนถนนตามต่างจังหวัดไกลๆของไทยเรา  ที่ทำให้เปลืองงบประมาณเล่นๆเสียงั้น  หรืออุปมาอุปไมยก็เหมือนกับกับเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปให้โรงเรียน  ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้แหละครับ  คอมพิวเตอร์อย่างดีอย่างไรก็ช่วยพัฒนาเด็กตาดำๆไม่ได้
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับการส่งเสริมนวัตกรรมจึงทำไปพร้อมๆกันนะครับ และคุณโคเรคิโยแกก็ทำได้ดีมากสามารถกระตุ้นให้ชาวญี่ปุ่น  ปลดปล่อยพลังในความคิดสร้างสรรค์มหาศาล  ออกมาเพื่อพัฒนาประเทศด้วยได้ ในยุคของแก  นวัตกรรมมากมายเกิดในญี่ปุ่นไม่เว้นแต่ละวัน  คนคิดของใหม่ก็ได้เอามาจดสิทธิบัตร  วงการอุตสาหกรรมก็เติบโตปะเหมาะกับลัทธิชาตินิยม  ทำให้บ้านเมืองพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว
 
คุณโคเรคิโยจึงเป็นผู้บุกเบิกการสร้างระบบนวัตกรรมในญี่ปุ่นเป็นท่านแรกและในที่สุดก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการเมือง  จนกระทั่งกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้อาจจะตอบคำถามได้บ้างบางส่วน  หนึ่งว่าญี่ปุ่นเจริญมาได้ก็เพราะการวางรากฐานที่ถูกต้องการรู้จักตนเอง  และมุ่งมั่นกับการสร้างประเทศด้วยนวัตกรรมเขาถึงได้เป็นอย่างทุกวันนี้ดังนั้นเรามาช่วยกันสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเยอะๆเถอครับ  เพื่อที่ประเทศของเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดนิ่งของคนไทย
 

นับถือชาวญี่ปุ่นจริงๆที่เขาทำสำเร็จ  จนจิตวิญญาณ "นวัตกรรม" แพร่ไปถึงระดับครัวเรือน ทุกคนจึงมีนิสัย "สร้างสรรค์" อย่างเช่นในรายการ "เกมส์ซ่า...ท้ากึ๋น" หรือ "TV-Champian" เป็นต้น

ทำอย่างไรประเทศไทยที่รักของเรา จึงจะเป็นอย่างนี้ได้หนอ?
 
 
 
 
พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management