"ครูหยุย"วางระบบบัญชี"บ้านครูน้อย"

 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา 14:01:04 น.  มติชนออนไลน

นายอิสสระ สมชัยยก "บ้านครูน้อย" เป็นโมเดลแก้ปัญหาสางปัญหาสถานเลี้ยงเด็ก ตั้ง "ครูหยุย" เป็นประธานกรรมการ  ดูแลมาตรฐานทั่วประเทศ...

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปัญหาบ้านครูน้อย เบื้องต้นมีการตั้งคณะกรรมการสถานเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อวางระบบการจัดการทางการเงินของบ้านครูน้อย ข้อมูลมูลที่ทราบพบว่าแต่ละเดือนครูน้อยมีรายรับ 90,000 บาท แต่ค่าใช้จ่าย 221,000 บาท
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องหนี้ครูน้อยต้องดำเนินการเอง ขณะที่ตัวเด็กประมาณ 60 คน ต้องจำแนกหญิงชาย และสัดส่วนอายุเพื่อแก้ปัญหา โดยให้นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปดูแล  พม.จะช่วยเหลือเรื่องอนาคตเด็กเหล่านี้ อย่างไรก็ตามบ้านครูน้อยไม่เข้าข่ายเป็นสถานเลี้ยงเด็กเอกชนแต่น่าจะเป็นสถานดูแลผู้ประสบปัญหาทางสังคม จะตั้งเป็นมูลนิธิก็ไม่ได้ คงต้องประคองให้ดำเนินการต่อ หากยุบคงมีแรงต่อต้าน ทั้งนี้ พม.จะนำกรณีปัญหาบ้านครูน้อยเป็นโมเดลแก้ปัญหาสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนทุกแห่ง อย่างไรก็ตามหลังจากที่ ได้สั่งการให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัด (พมจ.) ได้ตรวจสอบสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนทั่วประเทศ ยังไม่พบที่ใดมีปัญหาทางการเงินเช่นบ้านครูน้อย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ในฐานะประธานแก้ไขปัญหาสถานเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย นำทีมคณะกรรมการฯ หารือเพื่อแก้ปัญหาบ้านครูน้อย และสอนนางนวลน้อย ทิมกุล หรือครูน้อย ผู้อำนวยการสถานเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย และเจ้าหน้าที่ที่ช่วยงานบ้านครูน้อย ให้สามารถทำบัญชีแบบง่ายๆ เรื่องการรับ-จ่ายเงินจากผู้บริจาค และทำป้ายขึ้นให้ผู้ที่มาบริจาคได้สบายใจ ไม่ให้ถูกนินทาว่ากล่าวจนเสียหาย โดยระหว่างการวางระบบบัญชีระยะแรก ครูหยุยจะจัดเจ้าหน้าที่อาสามาจัดทำบัญชีที่บ้านครูน้อยก่อน

ภายหลังคณะกรรมการฯหารือได้ข้อสรุปว่า ครูน้อยยินดีให้คณะกรรมการฯมาช่วยวางระบบบัญชีทั้งหมด ซึ่งคาดว่า ใช้เวลา 2 เดือน จึงจะเรียบร้อย พร้อมแนะนำให้บ้านครูน้อยเปลี่ยนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ ซึ่งตรงกับที่ครูน้อยให้ความช่วยเหลือคนยากจนในชุมชน และเป็นการถูกต้องตามระเบียบด้วย

 

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่าง "ความมีจิตใจดี" ของครูน้อย แต่ปราศจาก "ระบบการจัดการที่ดี" เสียแล้ว ในที่สุดก็ไม่สามารถนำ "ความยั่งยืน" มาสู่องค์กรได้ แม้จะเป็น "องค์กรที่ไม่หวังกำไร" ...
อย่าว่าแต่ "องค์กรที่หวังกำไร" เลย ว่า "ระบบการจัดการที่ดี" จะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ!
หากรั้นไม่ทำละก็...ถึงฉากสุดท้ายเมื่อไหร่ อย่าไปโทษคนอื่น!
 
 
 
พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management