จาก สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
โดย...ปรีดา ยังสุขสถาพร
 
 
New Business Model
นวัตกรรมที่ท้าทาย
หลายๆครั้งที่มีผู้ถามผมว่า นวัตกรรมจำเป็นต้องเป็นเรื่องไฮเทคเสมอไปหรือเปล่า ? จะต้องเป็นแต่ของทันสมัยที่ใช้เทคโนโลยีสูงเท่านั้นหรือ ? ซึ่งผมก็มักจะตอบไปตามทฤษฏีว่า นวัตกรรมมันมีอยู่ด้วยกันใน 2-3 เรื่อง อย่างแรกคือ นวัตกรรมในตัวสินค้า อย่างถัดมาก็คือ นวัตกรรมในการบริการ และเรื่องสุดท้ายก็คือ นวัตกรรมของรูปแบบธุรกิจใหม่
สิ่งที่นักวิชาการให้ความสนใจกันในยุคแรกๆของวงการศึกษาเรื่องนวัตกรรมก็คือ นวัตกรรมในตัวสินค้านั่นเอง ตัวอย่างที่ยกกันขึ้นมาบ่อยมากจนเป็นกรณีศึกษาอมตะ คือ Post-it note ของ 3M อันนี้เห็นได้ชัดเจนว่าความเป็นนวัตกรรมอยู่ที่ตัวสินค้านั่นเอง ตัวอย่างอื่นๆก็มีมากมายตั้งแต่I-Pod,กล้องดิจิตอล,Notebook,Segway, ยาไวอากร้า ฯลฯ
นวัตกรรมในตัวบริการก็มีมากมายเหลือคณานับเช่นกัน อาทิเว็บไซต์, YouTube ,Yahoo,Google,MySpac e,Amazonฯลฯ ซึ่งพวกนี้ก็มักจะมีการพัฒนามาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศนั่นเอง แม้ในธุรกิจภาคบริการแท้ๆ เช่น ธนาคาร โรงแรม การบิน ฯลฯ ก็มีนวัตกรรมของตัวเองอย่างต่อเนื่องตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ภาคบริการนัยหนึ่งจึงเป็นผู้ใช้นวัตกรรมในสินค้าบางอย่างเพื่อพัฒนามาเป็นนวัตกรรมของตัวเองด้วยเช่นกัน
จุดเด่นของความเป็นนวัตกรรมในภาคบริการก็คือ “ แนวคิด ” ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ของตน บนฐานของ “ ความรู้ ” บางอย่างที่เป็นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการก้าวกระโดดไปสู่การสร้างนวัตกรรมของตนเอง
ส่วนตัวสุดท้าย คือนวัตกรรมในแง่ของการสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจใหม่ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สนใจศึกษาประเด็นนี้กันอย่างมากเพราะถือเป็นเรื่องใหม่และเป็นการสร้างนวัตกรรมในมุมมองของการบูรณาการศาสตร์หลายๆอย่าง ตัวอย่างที่ยกกันมากก็คือรูปแบบธุรกิจของร้านกาแฟ STARBUCKS
ที่กล่าวกันในหมู่ผู้รู้ทั้งหลายว่า ไม่ได้เป็นธุรกิจขายกาแฟ แต่เป็นธุรกิจขายประสบการณ์ของการนั่งดื่มกาแฟในบรรยากาศที่อบอุ่นเสมือนบ้านหลังที่สองอันนี้เป็นมุมมองของนักการตลาดที่ปรับเปลี่ยนแนวคิดไปตามรูปแบบการบริโภคใหม่ๆ บ้านเราก็พอมีจะเทียบเคียงได้บ้างก็คือ บ้านไร่กาแฟ ซึ่งก็ถือเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เปลี่ยนโฉมหน้าร้านกาแฟไทยทำให้ดูดี มีราคา และดึงดูดใจ
คำว่า รูปแบบธุรกิจ นี้น่าสนใจมากนะครับ เพราะลึกๆ แล้ว มันหมายถึงว่าท่านจะมี “ กลยุทธ์ ” อะไรในการดำเนินธุรกิจ ประเภท “ คุณทำดี ผมเอาด้วย ” (Me too) มันไม่ยั่งยืนแน่ๆ แม้ว่าอาจจะทำให้เรามีรายได้แบบ Short gun สิงห์คาวบอยในระยะแรก แต่ไม่นานมันก็จะเกิดปรากฎการณ์ “ ผมด้วย ” “ ดิฉันด้วย ” “ หนูด้วย ” ฯลฯ
ตามมา และเมื่อคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ ความคุ้มทุนก็จะโบกมือลาท่านไปในที่สุด ตัวอย่างใกล้ๆ ตัวก็คือ Rotiboy ที่มาเร็วและแรงเหลือเกิน และก่อให้เกิดพ่อบุญธรรมแม่บุญธรรมมากมายในระยะสั้นๆ ตั้งแต่ Rotimom , Rotidad ฯลฯ ทำให้อายุของธุรกิจนั้นสิ้นจนน่าใจหาย จริงอยู่ว่าคนทำก่อนรวยก่อน แน่นอน แมงเม่าตัวสุดท้ายก็เน่าไป
ถ้ารูปแบบธุรกิจของท่านเป็นอย่างนั้นแล้วไซร้ ท่านก็จะอยู่ในวังวนของการทำธุรกิจสั้นๆ ที่ไม่ยั่งยืน ความสำเร็จอยู่ที่ใครทำก่อนได้ก่อน ท่านก็ต้องแข่งขันกันอย่างมาก แข่งจนล้าในบางครั้ง และก็อาจจะแข่งขันกันไปจนตายในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจ
สิ่งที่จะช่วยให้รอด ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ในสากลโลกหรอกครับ มันคือ รูปแบบธุรกิจ ที่เป็นตัวของท่านเองต่างหาก และที่สำคัญมันไม่น่าจะเหมือนใคร ต้องมีความแตกต่างพอสมควรที่จะช่วยให้ “ ไปรอด ” และถ้าคุณเจ๋งจริงก็ “ ไปโลด ”
แต่แค่กลยุทธ์ที่ดีโดยลำพังก็ไม่พอนะครับ ถ้าท่านไม่มีความสามารถในการปฎิบัติให้ได้ตามกลยุทธ์ที่ว่านั่น ซึ่งสิ่งนี้ก็คล้ายๆ กับ นวัตกรรมในภาคบริการนั่นเอง ที่ผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้ทั้งความรู้ในเรื่องพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจ และความรู้ในมิติอื่นๆ เชิงกลยุทธ์ที่รู้แล้วจะช่วยให้ท่านเอาชนะคู่แข่งได้อย่างขาดลอย
 
ในยุคนวัตกรรม 1.0 ที่เมืองไทยเวลานี้นะครับ ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ท่านผู้ประกอบการจะได้หันมาลองดูนวัตกรรมด้านรูปแบบธุรกิจบ้าง เพราะยังเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนพิจารณาแต่การสร้างนวัตกรรมในสินค้ากันเสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะประเทศที่พัฒนาแล้วไปที่นวัตกรรม 2.0 ที่แม้แต่ธุรกิจการผลิตใหญ่ๆ อย่าง GE , IBM ก็มุ่งเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมบริการกันมากขึ้น
สิ่งที่จะช่วยให้ท่านก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็วคือ การก้าวในนวัตกรรม 3.0 คือ เวอร์ชั่นของการสร้างนวัตกรรมที่รูปแบบธุรกิจใหม่ซึ่งไม่ว่าทุนท่านจะหนาหรือบางแตกต่างกัน ก็ไม่มีข้อขีดคั่นจำกัดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของท่าน
   
ถึงตรงนี้ก็คงตอบคำถามข้างต้นใด้ระดับหนึ่งแล้วนะครับว่าการเปลี่ยนมุมมอง วิสัยทัศน์ และแนวคิดบางอย่างก็ช่วยให้ท่านรังสรรค์นวัตกรรมชั้นเลิศได้เช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะต้องมีงานวิจัยและพัฒนาชั้นเยี่ยมเท่านั้นที่จะสร้างนวัตกรรมได้เพียงช่องทางเดียว เพราะนวัตกรรมไม่ได้หมายความถึงแต่เรื่องเทคโนโลยีหรือสินค้าไฮเทค การเปลี่ยนหรือสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายไม่แพ้กัน
ถ้าหากท่านผู้ประกอบการต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ลองไปที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 6 สิครับ ที่นี่มี Slogan แบบซิลๆว่า Innovation Solution.
คิดอะไรไม่ออกก็ลองไปคุยดู อาจจะได้นวัตกรรมดีๆ สำหรับบริษัทของท่านก็ได้ Inno(vation) OK ไหมครับ
................................................................................................................
 
ฝ่ายมาตรฐานอาคาร
Department of Quality Management