จาก สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
โดย...ปรีดา ยังสุขสถาพร
 
 
แก่นและบริบท ของการทำนวัตกรรม
 
คำว่า แก่นในที่นี้คือ Core ส่วนบริบทในที่นี้ผมหมายถึง Context ครับ แล้วทั้งสองเรื่องนี้มาเกี่ยวกับการทำนวัตกรรมอย่างไร ? วันนี้ผมจะพยายามอธิบายในเรื่องที่เป็นวิชาการมากๆ ให้เข้าใจง่ายที่สุดดังนี้ครับ
ปกติคนเราให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากอยู่ตลอดเวลา เราจึงให้น้ำหนัก ไปในทางใดทางหนึ่งโดยธรรมชาติโดยเฉพาะกับการประกอบการด้วยแล้ว บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มจะให้ความสนใจลำดับแรกกับเรื่องของการทำธุรกิจ (หรือการค้าขาย)เพื่อแสวงหาผลกำไรมากกว่าที่จะสนใจเรื่องอื่นๆ ซึ่งฟังดูก็เหมือนว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรใช่ไหมครับ ?
ถูกต้องครับ มันก็ดูเป็นปกติ มีเหตุมีผลดี แต่ตรงนี้แหละ ที่ทำให้นวัตกรรมมันเกิดยาก
ความโน้มเอียงไปในทางสร้างผล “ บวก ” เป็นหลัก ย่อมทำให้โอกาสในการสร้างนวัตกรรมซึ่งเต็มไปด้วย “ ความเสี่ยง ” เกิดขึ้นลำบาก โดยเฉพาะเมื่อต้องลงทุนหรือพัฒนาอะไรใหม่ๆด้วยแล้วส่วนมากจะตัดสินใจได้ช้ามากครับ นอกจากว่าโอกาสนั้นจะเห็นได้ชัดเจนจริงๆ
ดังนั้น สิ่งที่บริษัทหรือผู้ประกอบการต้องสูญเสียไปก็คือ “ ความสามารถในการแข่งขัน ” ครับ ยิ่งฟังยิ่งงงใช่ไหมครับ ผมจะลองยกตัวอย่างให้เห็นดังนี้ครับ
สมมติว่า ไทเกอร์ วูดส์ มาถามคุณว่า เขาควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากว่ากันระหว่าง
หนึ่ง ความสามารถในการเล่นกอล์ฟของเขา
หรือ สอง การนำเสนอตัวเองในฐานะพรีเซนเตอร์ของสินค้าที่มีชื่อเสียงมากมาย
คุณอาจจะแนะนำเขาไปว่า ให้สนใจในการเล่นกอล์ฟสิ เพราะเขาเป็นนักกีฬามืออาชีพไม่ใช่ดาราหรือนักแสดง นั่นจึงจะถูกต้องใช่ไหมครับ ? แต่ไทเกอร์ วูดส์ อาจจะย้อนกลับมาได้ว่า ทุกวันนี้เขา “ มั่งคั่ง ” จากการเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้ามากกว่าการเล่นกีฬามากมายหลายเท่า แล้วทำไมเขาจะต้องมาเสียเวลากับการเล่นกอล์ฟอีกด้วย ?
ฟังดูมีเหตุผลดีเหมือนกัน แต่ความเป็นนักกอล์ฟมืออาชีพของ ไทเกอร์ วูดส์ นั้นเปรียบได้กับ “ แก่น ” ส่วนการเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าก็เปรียบได้กับ “ บริบท ” ถ้าเป็นคุณ คุณจะเลือกตัดสินใจทุมเทให้แก่สิ่งใด แก่นหรือบริบท
ถ้าไทเกอร์ วูดส์ มาถามผม ผมจะบอกให้เขาทุ่มเทเวลาให้แก่การพัฒนาฝีมือการเล่นของเขาให้ดีที่สุด ไม่ต้องพะวงถึงเรื่องการเป็น พรีเซ็นเตอร์ การที่บริษัทดังๆ จ้างเขาก็เพราะความสามารถและชื่อเสียงด้านกีฬากอล์ฟของเขา ซึ่งจุดแข็งของความสามารถในการแข่งขัน หากเขามัวแต่ทุ่มเวลาให้กับเรื่องอื่น ความสามารถของเขาจะลดน้อยลงไปและอาจทำให้เขาไม่สามารถดำรงฐานะการเป็น พรีเซ็นเตอร์ต่อไปได้ (เพราะสูญเสีย “ ความสามารถ ” ไปแล้วนั่นเอง)
 
หากคุณเป็นไทเกอร์ วูดส์ ก็คงคิดหนักอยู่เหมือนกัน และบริษัทจำนวนมากก็ตกรถไฟขบวนนวัตกรรมเพราะการตัดสินใจเลือกที่ผิด พวกเราส่วนใหญ่มักจะทำในสิ่งที่ตรงข้ามคือ ทุ่มเทความสำคัญให้แก่บริบท โดยละเลยเรื่องแก่นไปเสีย ทำให้บริษัทสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปในที่สุด
ถ้าคุณคิดจะทำนวัตกรรมในองค์กร คุณต้องรู้ก่อนว่าอะไรคือแก่นสำหรับคุณ และคุณก็ควรที่จะพุ่งเป้าไปตรงนั้นเพื่อสร้างขีดความสามารถของตัวเองขึ้นมาพร้อมทั้งรักษาไว้ให้ดี ส่วนบริบทก็ไม่ใช่ไม่สนใจแต่ว่าบริบทเป็นของที่คุณจะได้มาตามแก่นที่คุณมี หากแก่นไม่แข็งแรง บริบทก็ไม่แข็งแรง แต่ถ้าเลือกจะรักษาบริบทไว้อย่างเดียว บริบทอาจจะไปได้ดีสักพักหนึ่ง สุดท้ายก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลงเพราะแก่นไม่ดีนั่นเอง
รายได้ขององค์กรจะไหลมาจากความสามารถที่มีอยู่ครับบริษัทจึงควรพุ่งเป้าไปที่แก่นของตัวเองเพราะสุดท้ายประโยชน์ทุกอย่างก็จะมาจากแก่นตรงนี้ หากยังกังวลเกี่ยวกับบริบทที่มีอยู่อย่างไทเกอร์ วูดส์ จะทำอย่างไร เพราะไทเกอร์ วูดส์ คงจะบอกว่ารายได้กว่าร้อยละ 90 ของเขามาจากบริบทรอบตัว คุณจะแน่ใจได้อย่างไรที่จะแนะนำเขาให้เน้นที่การเล่นกีฬาแทน ?
ทางออกของปัญหานี้คือ ไทเกอร์ วูดส์ ควรมอบหมายให้ใครสักคนมาดูแลงานในส่วนที่เป็นบริบทแทน ส่วนตัวเขาเองก็ทุ่มเทเวลาเต็มที่ให้แก่การพัฒนาและฝึกฝนทักษะฝีมือ ซึ่งนั่นจะให้ผลย้อนกลับมาเป็นอีกร้อยละ 90 ในที่สุด
บทเรียนสำคัญที่สุดของเรื่องนี้อยู่ที่การ “ มุ่งเน้น ” และการ “ จัดลำดับความสำคัญ ” ครับ ทั้งสองเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญยิ่งสำหรับนวัตกรรม มันอาจจะดูขัดกับธรรมชาติในการทำงานบ้างแต่ลองนึกดูนะครับว่า ถ้าคุณไม่แยกตัวออกจากคนอื่นแล้ว คุณก็ไม่มีทางสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นมาได้จริงๆ เพราะหัวใจของนวัตกรรมอยู่ที่ความแตกต่าง ไม่ใช่ความเหมือน
แล้วถ้าคุณต้องลงทุนมากมายเพื่อสร้างนวัตกรรม แต่กลับไปสนใจในส่วนที่เป็นบริบท เช่น พัฒนาสิ่งที่คุณเชื่อว่าขายได้ มีตลาดรองรับ มีความต้องการพร้อม ฯลฯ
คุณก็เสี่ยงที่จะเดินผิดทางเพราะแม้ว่าจะขายได้อย่างที่คุณตั้งใจไว้ก็ตาม มันก็ไม่ยั่งยืน วันหนึ่งก็จะมีคนทำตาม และเผลอๆอาจจะดีกว่าที่คุณทำด้วยซ้ำไป สุดท้ายอาจกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า
   
แต่ถ้าคุณฉีกตัวเองออกมา แล้วทำในสิ่งที่คุณถนัดจริงๆ ทำในสิ่งที่เป็นตัวของคุณเองจริงๆ ก็หมายความว่า คุณกำลังสร้าง “ จุดแข็ง ” ของตัวเองขึ้นมาทีละเล็กละน้อย นั่นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะเลียนแบบกันได้ง่ายๆ ครับ ดังนั้น แทนที่จะสนใจเพียงแต่เรื่องการสร้างรายได้ลองหันมาพิจารณาการสร้างจุดแข็งของตัวเองดูสิครับ คุณอาจจะได้นวัตกรรมดีๆ ออกมาได้อีกมากมาย
 
อย่างการ "เน้นเรื่องขบวนการที่นำไปสู่คุณภาพ" ได้ใหม?!...
....................................................Teamwork ได้ไหม?!...
 
ฝ่ายมาตรฐานอาคาร
Department of Quality Management