“คิด” เพื่อสร้างนวัตกรรม
 
จาก สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
โดย...ปรีดา ยังสุขสถาพร
 
ท่านผู้อ่านคงจะยังจำได้ว่าภายหลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2540 หลายบริษัทต้องปิดกิจการและบริษัทจำนวนมาก อยู่ในสภาวะล้มละลาย เนื่องจากผลของค่าเงินบาทที่ลอยตัวเหล่านี้ เป็นประสบการณ์ที่ขมขื่นสำหรับผู้ประกอบการในช่วงนั้น
จนปัจจุบันสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมๆกับจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องผู้ที่วิเคราะห์สถานการณ์ของตัวเองย่อมทราบดีว่า  จะต้องหาทางป้องกันและปรับตัวอย่างไร เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ยิ่งสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศดูจะชะลอตัวและสุ่มเสี่ยงต่อสภาวะซบเซาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2551 นี้
สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำและอาจจะต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อความสามารถในการแข่งขันก็คือ การสร้างนวัตกรรม การพัฒนานวัตกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและคุณภาพชีวิตของประเทศโดยรวม เนื่องจาก พื้นฐานสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจและสังคมโลกในปัจจุบันขึ้นอยู่กับความรู้เป็นสำคัญ ซึ่งความรู้นี้จะเป็นต้นทุนที่นำไปสู่การเกิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ และเป็นพื้นฐานนำไปสู่การเกิด นวัตกรรมและเมื่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศดี โอกาสในการทำมาค้าขายของผู้ประกอบการก็จะดีตามไปด้วยเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน
และแน่นอนว่าหากปราศจากซึ่งความรู้แล้วต่อให้มีเงินลงทุนมากมายในการทำธุรกิจเพียงไรก็ตาม  ก็เสี่ยงต่อความล้มเหลวมากด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการทุกคนจึงควรกลั่นกรองความรู้และความคิดให้ตกผลึกเสียก่อน  ส่วนเรื่องเงินลงทุนนั้น เป็นเรื่องรองลงมา
ขอกล่าวในแง่ของวิชาการสักนิดว่า ในกระบวนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น  การสนับสนุนในรูปของการให้ทุน  ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเงินให้เปล่า การให้กู้ยืมหรือการร่วมลงทุน ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญรองลงมาจากการสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่วัฒนธรรมนวัตกรรมอย่างจริงจัง 
โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพราะเมื่อสังคมโดยทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมแล้วก็จะเกิดทัศนคติที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดนวัตกรรมอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสั่งสมอย่างต่อเนื่องยาวนานและมีพลังเพียงพอ
ในบ้านเราเอง  ยังมีความเข้าใจที่ค่อนข้างคลาดเคลื่อนว่าข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนในกระบวนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศนั้น  ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจของสถาบันการเงินต่อเรื่องนวัตกรรม เพราะการทำนวัตกรรมนั้นมีความเสี่ยงและสถาบันการเงินมีความโน้มเอียงที่จะไม่ตัดสินใจอนุมัติเงินกู้ให้แก่โครงการนวัตกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ความเข้าใจเช่นนี้เป็นความเข้าใจเพียงผิวเผินและนำไปสู่การพัฒนาโครงการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกของธุรกิจและอุตสาหกรรม
แท้ที่จริงแล้วต้องยอมรับว่าตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มาก  และหากตลาดเงินไม่มีความระมัดระวังเพียงพอในการปล่อยสินเชื่อ  ก็อาจนำพาประเทศไปสู่วิกฤตเพราะเกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก  ส่วนตลาดทุนในบ้านเราก็ยังมีขนาดเล็ก และยังต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการเป็นแหล่งเก็งกำไรระยะสั้นกับการเป็นแหล่งระดมทุนระยะยาวซึ่งคงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอีก
 
ผู้ประกอบการไทยในยุคศตวรรษที่ 21 จึงต้อง “รู้จัก  เข้าใจ และสร้างจินตนาการ” (Novelty) ให้เป็น เพราะสิ่งใหม่ๆ นี้แหละที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเอาชนะการแข่งขันทางธุรกิจได
และความคิดนี้ก็เป็นเรื่องแปลก  ทุกคนมีความสามารถทางการคิดได้เหมือนๆกัน แต่ที่ต่างกันคือ มีบางคนที่ “คิดได้” และ “คิดเป็น” ซึ่งหลายๆ ครั้งก็ “คิดถูก” เสียด้วย แน่นอนว่าจะมี “คิดผิด” ไปบ้างก็คงจะมีแต่ที่สำคัญคือ การเริ่มต้น “คิด” ต่างหากคือจุดเปลี่ยนให้เราก้าวพ้นขอบเขตหรือกรอบบางอย่าง และเปิดใจรับรู้ เรียนรู้และเลือกที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ในธุรกิจของตน ท่านผู้อ่านลองพิจารณารอบๆ ตัวท่านดูนะครับว่ามีอะไรที่ “น่าคิด” บ้าง ไม่แน่ว่าท่านอาจจะพบนวัตกรรมที่เหมาะกับท่านบ้างก็ได้

 

   
ฝ่ายมาตรฐานอาคาร
Department of Quality Management