ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทย iRAP_PRO คว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกเป็นสมัยที่ 4 |
![]() |
ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทย iRAP_PRO คว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกเป็นสมัยที่ 4 ในการแข่งขัน World Robocup Rescue 2009 ผลงานโดนใจ ต่างชาติยกนิ้ว ชื่นชมความสามารถ ... |
วันนี้ (5 ก.ค.) นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยไทย ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า | ![]() |
ทีมเยาวชนไทย iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยได้อย่างสง่างาม นับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่ทีมเยาวชนไทยครองอันดับที่ 1 ในเวทีหุ่นยนต์กู้ภัยโลก การแข่งขันครั้งนี้ iRAP_PRO สามารถค้นหาผู้ประสบภัยได้สูงสุดถึง 38 ราย โดยทำคะแนนนำเป็นที่ 1 ตลอดทุกรอบการแข่งขัน ทิ้งห่างรองแชมป์ คือ ทีมญี่ปุ่น Pelican United ซึ่งค้นหาผู้ประสบภัยได้ 33 ราย ส่วนอันดับสาม คือ ทีม MRL จากอิหร่าน อันดับสี่ คือ ทีมญี่ปุ่น Shinobi รวมกับทีมสวีเดน RRT UPPSALA และอันดับห้า คือทีมออสเตรเลีย CASualty |
![]() |
"SCG ยินดีและชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ต่างชาติทึ่ง และยอมรับในความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น ต้องยอมรับว่าเด็กไทยของเราเก่งจริงๆ สามารถเอาชนะคู่แข่ง ซึ่งเป็นทีมมืออาชีพและมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับของโลก |
ทั้งเยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น นอกจากความสามารถของทุกคนในทีมแล้ว iRAP_PRO ยังมีความตั้งใจและความมุ่งมั่นสูงมากที่จะนำชัยชนะกลับประเทศไทย" นางวีนัส กล่าว |
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่การรักษาแชมป์โลกสมัยที่ 4 เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า เพราะคู่แข่งจากประเทศอื่น ๆ มีความสามารถและความพร้อมสูง ทั้งยังเป็นประเทศผู้นำเทคโนโลยี เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน สวีเดน ออสเตรเลีย ออสเตรีย และอิหร่าน | ![]() |
![]() |
"ปัจจัยที่ทำให้ทีมไทย iRAP_PRO คว้าแชมป์โลกอีกครั้ง ทำสถิติ 4 ปีติดต่อกัน คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่บังคับด้วยมือ (Manual) 2 ตัว ที่ออกแบบให้สามารถข้ามเครื่องกีดขวางได้ในทุกสภาพผิว หมุนได้ 360 องศา มีแขนกลติดกล้องที่ยืดความยาวได้กว่า 1.5 เมตร |
ทำให้มีประสิทธิภาพค้นหาผู้ประสบภัยได้เหนือคู่แข่ง อีกทั้งยังมี Sensor ที่วัดอุณหภูมิค้นหาผู้ประสบภัยได้อย่างแม่นยำ ส่วนหุ่นยนต์อัตโนมัติ (Autonomous) 1 ตัว ใช้ระบบสายพานในการขับเคลื่อนเพื่อค้นหาผู้ประสบภัยได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีสมรรถนะไม่แพ้ทีมที่มีเทคโนโลยีสูงอย่างญี่ปุ่น และสวีเดน" ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าว |
นายคฑาวุฒิ อุชชิน หรือน้องโฟม นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้บังคับหุ่นยนต์ทีมไทย iRAP_PRO กระโดดตัวลอยหลังได้รับชัยชนะ เปิดเผยว่า การทำงานเป็นทีมทำให้เราได้รับชัยชนะ หลังจากการแข่งขันทุกรอบ | ![]() |
พวกเราจะมาสรุปผล และวิเคราะห์คู่แข่งเพื่อวางกลยุทธ์ รวมทั้งเขียนโปรแกรม และปรับปรุงหุ่นยนต์ให้เหมาะกับสนามการแข่งขันในรอบต่อไป ทำให้หุ่นยนต์กู้ภัยของเรามีสมรรถนะสูงขึ้นเรื่อย ๆ |
"การที่ทีมไทยคว้าแชมป์โลกมา 3 ปีซ้อน พวกเราจึงลดความกดดัน ด้วยการทุ่มเทและเตรียมความพร้อมก่อนมาแข่งขันมากกว่า 6 เดือน โดยทีมงานได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันเป็นอย่างดี ทำให้สามารถทำงานภายในเวลาอันสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผมทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหุ่นยนต์ ต้องหมั่นฝึกซ้อมให้เสมือนว่าหุ่นยนต์เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายของผม" นายคฑาวุฒิ กล่าว |
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยไทย กล่าวในตอนท้ายว่า จากความสามารถของทีมไทยในเวทีระดับโลก ทำให้ทีมต่างชาติอยากจะมาประชันฝีมือกับเด็กไทย เอสซีจีและสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย จะจัดการแข่งขัน Thailand Rescue Robot Championship ที่ประเทศไทย ในช่วงเดือนธันวาคม นี้ พร้อมเชิญทีมจากนานาประเทศร่วมแข่งขัน ซึ่งทีมที่ตอบรับแล้ว ได้แก่ ทีมจากประเทศญี่ปุ่น อิหร่าน ออสเตรเลีย เยอรมัน สวีเดน โดยมีกรรมการตัดสินจาก World Robocup Rescue Committee ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตราฐานการแข่งขันของไทยสู่ระดับโลก และเป็นการเปิดเวทีให้เยาวชนไทย ได้แสดงความ สามารถ ที่สำคัญจะส่งผลให้ประเทศไทย ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป |
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ฟุตบอล(RoboCup Soccer) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยในปี 2009 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย มีผู้สมัครเข้าแข่งขันหุ่นยนต์ทุกประเภทกว่า 300 ทีม จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก |
สำหรับการแข่งขันประเภท World RoboCup Rescue หรือหุ่นยนต์กู้ภัยโลก ทีมเยาวชนไทยได้เข้าร่วมแข่งขันครั้งแรกในปี 2005 และได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศโดยคว้าแชมป์โลก ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 โดยปี 2006 และ 2007 แชมป์โลกจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปี 2008 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และล่าสุด ปี 2009 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ |
สำหรับรายชื่อของทีมแชมป์หุ่นยนต์กูภัยนี้ ได้แก่ นายคฑาวุฒิ อุชชิน นายสุรเชษฐ์ อินเทียม นายณัฐกร แซ่เอี้ยว นายธีรวัฒน์ เบ็ญจวิไลยกุล นายสุธี คำใจคง และนายภราดร ทับทิมแดง ทั้งหมดเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ |
เห็นมั๊ย...ไทยเราก็มีดีเหมือนกัน ค้นศักยภาพให้เจอแล้วใส่"ความมุ่งมั่น "เข้าไป เราก็เป็น "ที่หนึ่ง"ได้ ! |
พิชัย
อรุณพัลลภ |
Department
of Quality Management |
![]() |