ตอนที่ 9
 
อุปนิสัยที่ 2
 
เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ (4)
     
เราได้รู้จักกับ “ศูนย์กลางชีวิต”มา 7 ประเภทแล้ว ลองถามตัวคุณเองว่า “แล้วศูนย์กลางชีวิตของคุณอยู่ที่ตรงไหน?”
 
  เนื่องจากมนุษย์ต้องเข้าสังคม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่จะถูกอิทธิพลจากบุคคลและปัจจัยภายนอกที่ไม่หยุดนิ่งมากระทบตลอดเวลา บ่อยครั้งเราจะพบว่า “ศูนย์กลางชีวิต”ของเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่งหรือไปสู่หลายๆสิ่งในเวลาเดียวกัน เหมือนชีวิตที่วิ่งขึ้นลงคล้ายกับการนั่งรถไฟเหาะ บางครั้งจะรู้สึกดี บางครั้งรู้สึกแย่ บางครั้งรู้สึกอ่อนแอจนต้องหยิบยืมความเข้มแข็งมาจากคนอื่น
บางครั้งไม่มีปัญญาที่สม่ำเสมอ บางครั้งรู้สึกไม่มีคุณค่าและความเป็นตนเอง !
     
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันจะดีเช่นไรหากเราสามารถสร้าง “ศูนย์กลางชีวิต”หนึ่งที่ชัดเจนขึ้นมาที่ทำให้เรามีความมั่นคงในจิตใจ มีเครื่องนำทาง มีปัญญา และมีอำนาจเต็มที่ในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกันไปทุกส่วนอย่างสมดุล !!
     
     
8-ศูนย์กลางชีวิตอยู่ที่หลักการ
พื้นฐานที่สำคัญที่เราใช้ในการปูทางไปสู่ชีวิตที่มีความสมดุลมี 4 ประการดังจะได้กล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งนั้นคือ :
     
ความมั่นคงในจิตใจ (SECURITY) ของเราเกิดจากความรู้ที่ว่าหลักการที่ถูกต้องจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เราสามารถพึ่งมันได้ มันไม่เหมือนศูนย์กลางชีวิตอื่นๆที่ตั้งอยู่บนสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
     
หลักการที่ถูกต้องจะไม่ฉุนเฉียวใส่ต่อผู้ใดทั้งสิ้นแม้กระทั่งต่อคนที่ตำแหน่งต่ำกว่าเรา มันจะไม่ปฏิบัติต่อเราแตกต่างไปจากคนอื่นทั้งในแง่ดีกว่าหรือเลวกว่า (เลือกเข้าข้างตนเอง-DOUBLE STANDARD) มันไม่นำพาเราไปสู่การตัดสินใจแก้ไขแบบฉุกละหุก หลักการไม่ขึ้นกับพฤติกรรมของคนอื่น ไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมหรือความชอบหรือความไม่ชอบที่เป็นความรู้สึก หลักการไม่ถูกทำลายด้วยไฟหรือแผ่นดินไหว มันไม่มีวันถูกขโมยไปจากเราได้ !!
     
หลักการเป็นสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในใจของเรา เป็นรากฐานของความจริงที่เป็นอมตะ มันอัดแน่นไปด้วยความถูกต้อง ต่อเนื่อง สวยงาม และแข็งแรงอยู่ในสายใยของชีวิต !!
     
แม้บางครั้งเราจะอยู่ในสภาวการณ์ที่ดูเหมือนไม่ชวนให้นึกถึงหลักการ แต่ลึกๆในใจแล้ว เรารู้สึกมั่นคงที่รู้ว่าหลักการนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คนหรือสภาพแวดล้อมจะมีอิทธิพลเหนือได้ ! เรารู้สึกมั่นคงเมื่อต้องตัดสินใจในสิ่งที่ยากๆเช่นขัดแย้งกับคนที่สนิทสนมกับเราหากเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมหรือของสังคมต้องมาก่อนส่วนตนเป็นต้น ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นพันๆปีได้พิสูจน์แล้วว่าหลักการที่ถูกต้องจะเป็นฝ่ายที่ชนะอยู่วันยังค่ำ !
     
     
(ลองเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ของบุคคลเช่น ALEXANDER THE GREAT , NAPOLEAN , JULIUS CAESAR ที่ยาวนานเพียงแค่ยุคสมัยอายุของเขาเท่านั้นเอง ในขณะที่หลักการคำสอนของศาสนาต่างๆที่ว่าความไม่เบียดเบียนกัน การอยู่รวมกันด้วยยึดคุณภาพสังคมส่วนรวมเป็นหลักจะนำมาซึ่งความมั่นคง ความเจริญที่ถาวรนั้นเป็นจริงเสมอ ! หรือลองดูความก้าวหน้าของประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “พัฒนาแล้ว” เช่นอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฯ เปรียบเทียบกับหลักการทุกด้านที่เขาใช้บริหารประเทศเทียบกับประเทศที่ “ด้อยพัฒนา” ที่เต็มไปด้วยปัญหาที่เกิดจากคน “ด้อยหลักการ” ก่อขึ้นมาเป็นลูกโซ่ แล้วเราจะเห็นพลังของ “การมีหลักการ” ! )
     
แม้ว่าความสามารถของเราจะมีจำกัด คงไม่มีใครกล้าสรุปว่าหลักการที่ใช้อยู่นี้ดีที่สุดแล้ว แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็ยังดีกว่าทุกแบบของ “ศูนย์กลางชีวิต” รูปแบบอื่นอยู่ดี เพราะมันไม่ขึ้นกับอารมณ์ของเราหรือของคนอื่น ไม่ขึ้นกับความชอบหรือไม่ชอบของเรา มันไม่มีอคติ มันยุติธรรมที่สุด และมันทำให้เรามีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง !!!
     
ในขณะเดียวกัน หากเราเป็นคน PROACTIVE ที่แท้จริง เราสามารถขยายขอบเขตกรอบความคิดเดิมนั้นออกไปได้เรื่อยๆด้วยการแสวงหาข้อมูลใหม่ๆที่มาจากการเปิดรับของสมองของเรา ยิ่งเราเรียนรู้มากขึ้นเท่าใด เราก็จะยิ่งสามารถปรับโฟกัสของเลนส์ที่เราใช้มองโลกให้ชัดเจนมากขึ้นจนหลักการที่เราใช้อยู่ที่ดีอยู่แล้วจะยิ่งสมบูรณ์ขึ้นๆเท่านั้น !!!
     
  ปัญญา (WISDOM) และเครื่องนำทาง (GUIDANCE)
สองสิ่งนี้อยู่เคียงข้างการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างมีหลักการ ปัญญาทำให้เราสามารถคัดสรรข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้ในคลังสมองเพื่อปรับให้หลักการของเราทันสมัยอยู่เสมอ และพร้อมที่จะเป็นเครื่องนำทางของเราที่จะหยิบมาใช้ในสถานะการณ์ในอนาคตได้อย่างอัตโนมัติ ใครยิ่งมีคลังข้อมูลยิ่งมากก็จะยิ่งมีความพร้อมในการตอบสนองเหตุการตรงหน้าได้ดีกว่าคนอื่นๆ เหมาะสมและสวยงามกว่าคนอื่นๆ !
   
   
     
อำนาจ (POWER) ในที่นี้หมายถึงอำนาจที่สมองเรามีในการจัดการกับเหตุการณ์ต่างๆ (ไม่ใช่ในความหมายของ “อำนาจในการปกครองคน บังคับคน” ) อำนาจของเราในการ “เข้าใจ”และ “รู้วิธี”เปลี่ยนแปลงให้ตนเองมีประสิทธิภาพกว่าเดิม อำนาจของเราในการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนอื่นจากที่ทำงานแบบ “ไปวันๆ” ให้เป็นคนมีความคิดริเริ่ม อำนาจนี้ไม่ใช่มาจากคนอื่นมอบหมายให้มา แต่เป็นอำนาจที่เราสร้างขึ้นมาจากความที่เป็นคน PROACTIVE อำนาจที่มาจากการใช้หลักการในการทำงาน และมาจากการมีความรู้ (KNOWLEDGE) และการรู้ตนเอง (SELF-AWARENESS) (การมีสติ ?) อำนาจจากการทำงานด้วยใจว่าง ไม่มีอคติต่อทัศนคติเชิงลบของผู้อื่น ไม่มีอคติต่อความบกพร่องของผู้อื่น และการเลือกทัศนคติเชิงบวกตอบผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าเขาจะเคยทำอย่างไรกับเรามาก่อนก็ตาม !!
ด้วย 4 ปัจจัยนี้แหละที่ทำให้ “ศูนย์กลางชีวิตอยู่ที่หลักการ”เป็นศูนย์กลางชีวิตที่มีความสมเหตุสมผลที่สุด ! ก่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด !!
 
 
 
 
คราวหน้าเรามารู้จักกับอุปนิสัยที่ 3 กันนะครับ