30 วิธีเอาชนะโชคชะตา
 
The Luckiest Man in the World
โดย...บัณฑิต   อึ้งรังษี
 
 
คำนำ
ใครๆก็อยากโชคดี  เพราะความโชคดีทำให้ชีวิตมันง่ายขึ้นน่าอยู่ขึ้น  สนุกขึ้น   ความรู้สึกว่าตนเองโชคดี  หรือโชคเข้าข้างเราเสมอ  เป็นความรู้สึกเหมือนกับเราเป็นผู้ชนะในชีวิต
เมื่อผมตัดสินใจเป็นวาทยกรในระดับนานาชาติ  ผมตระหนักอยู่เสมอว่า  หนทางมันต้องยาวไกล และต้องไม่ง่ายแน่เพราะการที่ผมมาจากประเทศไทย  แน่นอน ต้องเป็นอุปสรรคที่ใหญ่อันหนึ่ง  เพราะมันช่างเป็นสิ่งที่ดูไกลเกินฝันมาก
ยิ่งเมื่อไปอยู่ต่างประเทศ  ยิ่งทราบว่าเป้าหมายของเรามันค่อนข้างจะเป็นเรื่อง “เป็นไปไม่ได้” เพราะได้เห็นระบบส่งเสริมคนของแต่ละชาติ  ซึ่งจะทำให้เราไป “แย่ง” โอกาสมาจากคนเจ้าของประเทศได้ยากขึ้น
แน่นอน นอกจากผมออกแรงด้วยตนเอง  ทำงานหนักแล้วการที่จะช่วยถึงเป้าให้เร็วขึ้น ผมตระหนักว่า  อาจจะต้องมีพลังความช่วยเหลือมาจากภายนอก  เพื่อที่จะให้ “ปาฏิหาริย์” เกิดขึ้น  ความช่วยเหลือภายนอกนั้น  ผมหมายถึงความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า บุคคลผู้มีอำนาจ เพื่อนๆ หรือโชค เพราะกระผมทราบว่า ในวงดนตรีระดับนานาชาติ ไม่ว่าดนตรีประเภทไหน  มีการแข่งขันกันอย่างเชือดคอ คนแก่งแย่งกันมากมาย มีคนเก่งๆมากมายที่ไปไม่ถึงฝัน ขนาดคนเก่งพวกนั้นเป็นสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับคนไทยตัวเล็กๆ ไม่มีเส้นไม่มีสายไม่มีเงินมากมายนัก  ไม่มีใครช่วยดัน  นอกจากคุณพ่อคุณแม่ที่น่ารัก
แน่นอน  นอกจากเราจะต้องเก่งสู้เขาได้แล้ว  หรือเก่งกว่าแล้วผมตระหนักว่า คงจะยังไม่พอ  เราจะต้อง “โชคดี” กว่าคนอื่น
จะต้องมีพลังอะไรต่างๆมาคอยช่วยหนุน  ประคับประคองและผลักดันอยู่เสมอ
 

 

[คำนิยามของโชคดี]
เรามาตกลงกันคร่าวๆก่อนดีกว่า  ว่าเราจะพูดถึงคนที่ “โชคดี” แล้ว เราคิดว่าเขามีลักษณะอย่างไร “คุณเป็นคนโชคดี  ถ้าคุณประสบความสำเร็จหรือได้สิ่งที่ต้องการ หรือมีความสุขได้ง่าย และ เร็วกว่าคนอื่น”
ความโชคดีเป็นเหมือน “เครื่องทุ่นแรง” อย่างหนึ่ง
การเดินทางหมื่นลี้ต้องเริ่มที่ก้าวแรก  ตามสุภาษิตจีน  แต่การเดินทางหมื่นลี้ไม่จำเป็นต้องเดินด้วยเท้าเสมอ ถ้ามีเครื่องบินเข้ามาช่วย ก็ทำให้การเดินทางหมื่นลี้นั้นง่ายมากขึ้น  โชคดีก็เป็นเหมือนเครื่องบินนั้น  ที่ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น  ง่ายขึ้น  ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น
โชคร้ายก็เหมือนมรสุมที่คอยขัดขวางการเดินทางนั้น  ทำให้ถึงเป้าหมายยากขึ้น  หรือถ้าเราท้อและล้มเลิกยอมแพ้ก็อาจไม่ถึงเป้าหมายนั้นเลย  เหมือนกับเครื่องบินลำนั้นตกเพราะมรสุม
[ผมเอง  “โชคดี”อย่างไร]
ระหว่างที่ผมเดินหน้าเข้าหาเป้าหมายนั้นในการต่อสู้มาสิบกว่าปีในต่างประเทศ  ก็ต้องบอกว่าตนเอง “โชคดี” มากๆที่มาถึงตรงนี้ได้ มีสิ่งต่างๆที่คาดไม่ถึงมาช่วยอยู่เป็นประจำทำให้ผมถึงเป้าหมายเร็วกว่าที่คิดมาก  แม้จะมีอุปสรรคมากมายและสิ่งที่ค่อนข้างจะ “เป็นไปไม่ได้” ซึ่งผมจะเล่าสิ่งที่คาดไม่ถึงเหล่านั้นผ่านกฏต่างๆต่อไปนี้  แต่ก็มีบางครั้งที่ตนเองทำผิดพลาด  ฝ่าฝืนกฏ  เป็นบทเรียนที่อยากจะเอามาแบ่งปัน  ว่าทำไมผมถึง “โชคร้าย”  และแก้มันได้อย่างไร
 
[หนังสือเรื่องโชคที่สมบูรณ์ที่สุด]
เป็นเรื่องแปลกที่ว่า  ตั้งแต่ผมอ่านหนังสือประเภท self-development มาเป็นพันๆเล่ม  แทบจะยังไม่เคยเจอหนังสือเกี่ยวกับเรื่อง  “โชค” เลย ระหว่างตอนค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้  ลองเข้าไปดูที่ amazon.com  ตลาดหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ก็มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องโชคอยู่ไม่กี่เล่ม เมื่อลองสั่งหนังสือที่มีมาเกือบทั้งหมด  ก็พบว่ามีบางเล่มที่ใช้ได้มีการพูดเป็นหลักฐานน่าเชื่อถือ  มีการวิจัยมาสนับสนุนและตรงกับความรู้และประสบการณ์ของผมว่าเป็นปรัชญาที่น่าเชื่อถือและนำไปใช้ได้
แต่บางเล่มก็อ่านแล้วสับสนวนเวียน  หรือเป็นวิชาการเกินไปหรือบางเล่มก็เชื่อเรื่องที่ “ไร้สาระ” เกินไป  จับหลักฐานไม่ได้และที่ “น่ารำคาญ” ที่สุดคือ ส่วนใหญ่อ่านจบแล้วยังไม่บอกผู้อ่านอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรถึงจะ “โชคดี”  ขึ้นได้
ผมจึงเขียนหนังสือที่ “ตนเองอยากอ่าน” คือ  สรุปมาเป็นข้อๆ ให้ชัดเจนเลยว่า  คนเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อที่จะให้โชคดีขึ้น และเอาชนะโชคชะตาของตนเอง
 
เมื่อหนังสือในซีรี่ส์นี้พิมพ์ครบสามเล่มแล้ว  จะรวบรวมเทคนิค  ข้อคิด  และกฎแห่งโชคทั้งหมดกว่า  90  ข้อ ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับความโชคดีที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง
แน่นอนครับ  หนังสือเล่มนี้ตัวผมเองเขียนโดยมีตลาดตะวันตกเป็นเป้าหมาย  เพราะมีตลาดของหนังสือประเภทนี้ที่ใหญ่มากๆจริงๆ แล้วเนื่องจากผมคุ้นเคยกับการอ่านหนังสือประเภทนี้เป็นภาษาอังกฤษ  ศัพท์แสงต่างๆจึงคิดเป็นภาษาอังกฤษก่อน  ต้องขออภัยมา  ณ  ที่นี้ด้วย  ถ้าการ “แปล” เป็นภาษาไทยในใจของผมอาจจะไม่สละสลวยเท่านักเขียนไทยท่านอื่น
 
[ทำไมบางครั้งใช้หนังสือประเภทปรัชญาความสำเร็จไม่ได้ผล]
 
เมื่อผมเป็นวัยรุ่น  เรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ  บางรักและอัสสัมชัญ พาณิชย์  ก็ได้พบปะเพื่อนหลายคนที่อ่านหนังสือประเภทปรัชญาความสำเร็จ หรือ  self-development แล้วนำมาใช้ไม่ได้ผล ก็มาบอกว่า  “หนังสือพวกนี้ใช้ไม่ได้หรอก”  จริงๆแล้วผมได้ผลในทางตรงกันข้าม  ผมคิดว่าเหตุผลที่คนหลายคนนำหนังสือจิตวิทยาไปใช้แล้วไม่ได้ผลมีหลายประการ เช่น
--ไม่นำไปใช้  อ่านเฉยๆ เข้าใจ เห็นจริงด้วย แต่เมื่อไม่ได้นำไปใช้ก็ลืม
--ใจร้อนเกินไป  อยากเห็นผลอย่างรวดเร็ว  ไม่ได้นำไปใช้นานเพียงพอ  เมื่อไม่เห็นผลเร็วตามใจตนเอง  ก็สรุปว่า “มันไม่ได้ผล”
--อ่านหนังสือเล่มที่ไม่ถูกต้อง   ต้องเลือกหนังสือและเลือกผู้เขียนบ้าง  สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือประเภทนี้  อาจแยกไม่ออกในตอนต้น  แต่เกณฑ์ง่ายๆ ที่ผมใช้คือ  ถามตนเองว่า  ผู้เขียนเป็นคนที่ทำสำเร็จจริง(ดี)  หรือเป็นคนที่อ่านหนังสือคนอื่นมาบอกต่ออีกที (ไม่ดี)  เป็นประเภทคนที่ประสบความสำเร็จมาด้วยตนเอง (self-made) ไร้ซึ่งมรดกครอบครัว (ดี) หรือเป็นประเภทคนที่เก่งเรื่องทฤษฎี แต่ปฎิบัติจริงไม่ได้ (ไม่ดี)
 
Anthony Robbins
Brian Tracy
อีกอย่างหนึ่งคือ อย่าเอา “ความดัง” ของผู้เขียนเป็นตัวนำเพราะบางคนไม่เข้ากับบุคลิกคุณ  ยกตัวอย่างเช่น Anthony Robbins เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกเรื่องการสอน Success Skills แต่ตัวผมเองกลับรู้สึกว่าเรื่องของ Brian Tracy มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย  และนำไปปฏิบัติง่ายเข้ากับตัวผมมากกว่า
--อ่านหนังสือแปลมา  ตัวผมเองอ่านหนังสือประเภทปรัชญาความสำเร็จ  ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ  เมื่อบางครั้งได้มาอ่านหนังสือเล่มเดียวกันในภาคภาษาไทย ถึงได้เข้าใจว่าทำไมตอนแรกๆ ที่ตนเองอ่านหนังสือแปลถึงอ่านไม่รู้เรื่องเลย เพราะผู้แปลบางท่าน (ขอเน้นว่าบางท่านครับ  คนเก่งๆก็มี) ไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ ไม่รู้ว่าจะสื่อให้คนเข้าใจได้อย่างไร (เพราะผู้แปลเองก็ไม่เข้าใจ จึงไม่มีอะไรจะไปสื่อ) และผู้แปลบางท่านก็ไม่มีประสบการณ์ในการกระทำให้สำเร็จมาก่อนมีหนังสือแปลมากมายที่มีลักษณะเช่นนี้  โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องใช้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งจากความรู้จริง  และประสบการณ์การทำจริงที่ผู้เขียนจริงๆเท่านั้นที่จะสื่อได้ดีที่สุด
เพราะฉะนั้น  ถ้าท่านอ่านหนังสือจิตวิทยาบางเล่มแล้วไม่เข้าใจอย่าเพิ่งโทษว่าตนเองฉลาดไม่พอ  บางครั้งอาจไม่ใช่ความผิดของผู้อ่านเลย
 
[ข้อแนะนำการใช้หนังสือเล่มนี้]
สำหรับหนังสือเล่มนี้  ผมขอแนะนำวิธีการนำเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ได้คร่าวๆดังนี้
--ไม่จำเป็นต้องอ่านเรียงลำดับ  ตั้งแต่ข้อแรกถึงข้อสุดท้าย อ่านข้อที่สนใจและเกี่ยวข้องกับตัวคุณมากที่สุด  เพราะจะจำและนำไปปฏิบัติได้ง่ายที่สุด
--ไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกข้อ  ถึงจะได้ผล  บงครั้งเพียงไอเดียหรือความคิดเดียวก็สามารถเปลี่ยนแปลง “โชค” ของเราได้ไม่จำเป็นที่จะต้องทำได้ทุกข้อ
--ทำจนเป็นนิสัย  สิ่งที่จะช่วยความจำได้ดีที่สุดคือ  การทำอยู่เรื่อยๆ จนติดเป็นนิสัย
 
[Universal Truth  (สัจธรรมของโลก) และ Common Sense]
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นปรัชญาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง  ไม่ได้เป็นความคิดที่ผมอุปโลกน์ขึ้นมาโดยไม่ได้ทำจนเห็นผลครั้งแล้วครั้งเล่ามาก่อน  และไม่ได้เป็นการเอาสิ่งที่ตนเองอ่านมา  มารวมๆกันเป็นเล่มโดยไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เทคนิคและข้อคิดทุกข้อเป็นสิ่งที่ผมได้ผ่านประสบการณ์ตนเองว่าใช้ได้  หรือเป็นสิ่งที่เป็น common sense ที่บางท่านอาจจะพอทราบหรือสงสัยอยู่แล้ว  แต่ต้องมีการยืนยันกันไว้เพื่อความสมบูรณ์
หนังสือเล่มนี้ผมเขียนด้วยใจ  เป็นหนังสือที่ตนเองอยากได้อ่านเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว และหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย
 
 
บัณฑิต  อึ้งรังษี
 
เห็นหรือยังว่า คุณบัณฑิต มีความจริงใจที่จะถ่ายทอด "การสร้า้งโชค" แก่เราแค่ไหน
...คราวหน้า เราไปติดตามกันนะครับ
 
 

 

พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management