สรุปคำปราศัยของ Obama ในวันสาบานตน 21-Jan-09
 
เป็นธรรมเนียมของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่หลังการกล่าวคำสาบานตนต่อหน้าคัมภีร์ Bible แล้ว ประธานาธิบดีคนใหม่ต้องกล่าวคำปราศรัยต่อฝูงชนที่มาต้อนรับ
 
Obama ประธานาธิบดีคนที่ 44 ก็เช่นกัน
ผมเห็นว่าคำกล่าวของ Obama มีใจความลึกซึ้งน่าประทับใจและมีหลายตอนที่บ่งบอกถึงการเรียกร้องของเขาต่ออเมริกันในการให้ความร่วมมือเพื่อฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าอเมริกาและทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ หลายตอนมีการย้ำเตือนอเมริกันรุ่นใหม่ที่อาจจะลืมไปว่ากว่าจะมาเป็นวันนี้ คนรุ่นก่อนต้องทำงานหนัก และคนรุ่นใหม่จะต้องให้น้ำหนักแก่คุณค่าของการทำงานหนักเช่นกัน มีการเตือนคนรุ่นใหม่ที่เห็น “ความสำเร็จ” ที่มาในรูปของ “สูตรสำเร็จ”
ที่ใครๆก็อยากได้โดยไม่ต้องออกแรง แล้วก็เป็นเรื่องจริงที่มีเห็นหลายคนได้มา “ง่ายๆ” จนเกิดค่านิยม “เปลือกของความสำเร็จ”เป็นลูกโซ่ที่ “คนที่คิดว่าตนฉลาด” ใช้สร้างความร่ำรวยมหาศาล แต่ในที่สุด วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็กำลังปลุกคนอเมริกันให้ตื่นจากความฝัน มาสู่โลกแห่งความจริงว่า “อย่าทิ้งค่านิยมพื้นฐานที่เคยสร้างชาติมา !” และ “อะไรเป็นของแท้ อะไรเป็นของฉาบฉวย”
 
ที่สำคัญ แม้เขาจะเป็นคนยุคใหม่คนหนึ่ง เขาก็ยังคิดว่า หากอเมริกาต้องการหลุดพ้นจากวิกฤตินี้ อเมริกาก็ยังคงต้องใช้ “วิถีในการคิดแบบบรรพบุรุษ” ในเรื่องของการ “ทำงานหนักร่วมกันเพื่อฟื้นประเทศ” เพราะวิธีคิดนี้จะไม่มีวันล้าสมัยแน่นอน ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปนานแค่ไหนก็ตาม !
“Back to fundamental  ! ”
พร้อมทั้งเตือนล่วงหน้าว่าการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้ จะไม่ใช่เพียง “ชั่วข้ามคืน” แต่ต้องการ “ความต่อเนื่อง” ที่อาจจะเป็น 2-3 ปี จะไม่ใช่แบบ “เป็นหน้าที่ของรัฐบาล” ฝ่ายเดียว แต่ต้องมาจาก “ประชาชน” ด้วย
 
ต่อไปนี้เป็นการสรุปเฉพาะตอนที่เห็นว่าน่าสนใจต่องานของเราครับ :
Obama เริ่มต้นด้วยการแสดงความถ่อมตนที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวอเมริกันให้มารับหน้าที่บริหารประเทศ พร้อมกับไม่ลืมที่จะกล่าวขอบคุณ Bush ที่ช่วยทำให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น เขากล่าวถึงวิกฤติที่ชาวอเมริกันกำลังประสบอยู่ เช่น การถูกยึดบ้าน การตกงานการเกิดปัญหาสถาบันการเงิน ฯลฯ
ด้วยวิกฤติที่เห็นกันอยู่  เขาเรียกร้องให้ทุกคนละทิ้งการห้ำหั่นกันทางการเมือง เปลี่ยนมาเป็นความร่วมมือ พร้อมกับใช้แนวคิดที่คัมภีร์ทางศาสนาของทุกศาสนาที่สอนให้ทุกคนมีความอดทนกันและกัน อดทนต่อความทุกข์ยาก เพื่อสร้างประวัติศาสตร์อย่างที่คนรุ่นก่อนเคยทำมารุ่นแล้วรุ่นเล่า อย่างที่พระเจ้าทรงประทานคำสัญญาว่าทุกคนในโลกเสมอภาคกัน มีอิสรภาพ และสมควรมีโอกาสในการแสวงหาความสุขของตนอย่างเท่าเทียมกัน !
ในการยืนยันความยิ่งใหญ่ของชาติอเมริกา เขาย้ำว่า “ความยิ่งใหญ่” ไม่ใช่สิ่งที่ “มีคนหยิบยื่นมาให้” หากแต่มาจาก “การไขว่คว้ามา” ด้วยมือของทุกคนในชาติ และการเสาะแสวงหาความยิ่งใหญ่นั้น ไม่เคยได้มาจาก “การเดินทางลัด” “จากความเหยาะแหยะในการทำงาน” หรือ “ความพึงพอใจแค่เรื่องความร่ำรวยและความมีชื่อเสียง” …
ตรงกันข้าม “ความยิ่งใหญ่” ที่ได้มากลับมาจาก “การกล้าที่จะเสี่ยง” “การลงมือทำ” ในกลุ่มคนจำนวนนี้ บางคนอาจจะได้ประสบความสำเร็จและได้ฉลองไปแล้ว แต่อาจมีกลุ่มคนที่จำนวนมากกว่าที่ยังไม่เห็นผลนั้นได้เดินผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาได้ และกำลังเดินไปสู่ความมั่งคั่งและการมีอิสรภาพ !
Obama ปลุกเร้าคนอเมริกันให้ตระหนักในศักยภาพของตนเมื่อเขากล่าวว่าอาจมีคนสงสัยถึงข้อจำกัดที่ทั้งประเทศมีอยู่และความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะพลิกฟื้นไปสู่อนาคตที่สดใสได้ หาก “แผนนโยบาย” ต่างๆจะเป็นผลในทางปฏิบัติ เขากลับแย้งกลับคนที่ “เก่งแต่ตั้งคำถาม” เหล่านั้นว่าที่ใดที่ “มีแต่คำถามในทุกทางออก ก็จะไม่เกิดการกระทำที่มีพลัง” แต่เขามั่นใจในพลังของประชาชน
 
มั่นใจใน “ศรัทธา” ที่เขามีต่อ “คุณค่าแห่งชาติ” ของบรรพบุรุษอเมริกัน (เสริม : "คุณค่าแห่งชาติของอเมริกา" ประกอบด้วย อิสรภาพ (Freedom) ประชาธิปไตย (Democracy ) การพึ่งตนเอง (Self Sufficiency) การยึดหลักการทางวิทยาศาสตร์ (Scienctific Belief) การทำงานหนักเพื่อคนรุ่นหลัง (Hard Working for next Generation)
อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ลืมที่จะเตือนชาวอเมริกันที่ตอบรับกระแส “CHANGE” ของเขาว่า หากต้องการเปลี่ยนอเมริกาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าแล้วละก็ ทุกคนต้องเลิกสุรุ่ยสุร่าย ไม่ว่าระดับประชาชนหรือผู้บริหารที่ใช้เงินของแผ่นดิน ต้องใช้เงินอย่างฉลาด เลิกนิสัยที่ไม่ดีเสีย แล้วทำธุรกิจอย่างในครรลอง เมื่อนั้นอเมริกาก็จะฟื้นจากการมีความเชื่อมั่นกันและกัน ระหว่างประชาชน และระหว่างประชาชนกับรัฐบาล !
 
 
สำหรับผมแล้ว เห็นว่าสิ่งที่ Obama พูดได้ดีมากคือการชี้ให้ทุกคนเห็น “หน้าที่ความรับผิดชอบ” และ “ศักยภาพ” ของชาวอเมริกันว่า “คุณค่าแห่งชาติ” ต่างๆที่เขากล่าวมาแล้วเท่านั้นที่จะนำพาให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า จนสร้างประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังจะจดจำผลงานของคนรุ่นปัจจุบัน และคำที่เขาพูดว่า :

 
“อเมริกาเอ๋ย  ทั้งๆที่มีอันตรายรอบด้าน ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ ขอให้เราจำวันที่ลำบากนี้ไว้   ด้วย “ความหวัง” และ “คุณค่าประจำชาติ”ของเรา ขอให้เราจงกล้าหาญ อดทนรับมือกับพายุที่กำลังก่อตัว เพื่อให้เป็นที่กล่าวขวัญไปถึงรุ่นลูกรุ่นเหลนว่าพวกเราไม่เคยยอมแพ้ ไม่เคยหันหลังหนีปัญหา และด้วยสายตาที่เพ่งมองที่สุดขอบฟ้าที่ซึ่งมีความสง่างามของพระเจ้าตราตรึงอยู่นั้น เราจะนำรางวัลไปสู่ลูกหลานของเราให้ได้ !”
 
 
แม้จะเป็นคนไทย  ผมก็ยังอดไม่ได้ที่จะเทใจให้ครับ !
 
อืมม … จะจำไว้ “คุณค่าแห่งชาติ : การมีศรัทธา… ต่อการไขว่คว้าจากน้ำมือของตน…  ต่อความอดทน… ต่อความร่วมมือ… ต่อพลังเสริม… ต่อการทำงานหนักเพื่อคนรุ่นต่อไป …”
 
พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



พิชัย  อรุณพัลลภ
                                Department of Quality Management