SAMSUNG ผงาดสู่ตลาดโลก
SUNG-HONG KIM … เขียน
 
มิรา คิม และ สุริศา ประชาบาล … แปล
บทที่ 1:ปลุก SAMSUNG ให้ตื่นจากการหลับ
ผลอันเนื่องมาจาก“รายงานฟุกุดะ”
วันที่ 4-6-1993 ที่โรงแรมโอกุระ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประธาน LEE ได้เรียกประชุมประธานบริหารและคณะกรรมการกว่าสิบคน รวมทั้งนายฟุกุดะ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบของ SAMSUNG  ELECTRONICS
เป้าหมายของการประชุมคือ –การวางกลยุทธในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีซึ่งใช้เวลานานหลายชั่วโมง หลังการประชุมอย่างเคร่งเครียดจบลง  ประธาน LEE ได้เชิญนายฟุกุดะและที่ปรึกษาอีก 3-4 คนคุยกันต่อที่ห้องรับแขก (ที่ปรึกษาคณะนี้ได้รับเชิญจาก ประธาน LEE ในปี 1989 เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆจากญี่ปุ่นมาใช้)
“ตั้งแต่พวกคุณมาเป็นที่ปรึกษาของเรา พวกคุณเห็นอะไรที่เราต้องปรับปรุงบ้าง ขอให้บอกเราอย่างตรงไปตรงมาด้วยครับ ?” ประธาน LEE ถาม
แม้ตอนแรกที่ปรึกษาคณะนี้จะไม่กล้าพูดตรงๆด้วยความที่ไม่อยากกระทบถูกคนอื่นๆของ SAMSUNG แต่เมื่อถูกคะยั้นคะยอจากประธาน LEE พวกเขาจึงยอมเผยความจริง ประธาน LEE ฟังข้อมูลต่างๆที่พรั่งพรูออกมาด้วยความตั้งใจ เขาได้เห็นจุดอ่อนของ SAMSUNG ชัดขึ้นๆเรื่อยๆ
การพูดคุยครั้งนั้นยาวนานกว่าที่คิดไว้แต่แรก จาก 18.00 น. ไปจนถึง 5.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ! หลังจากประชุม ประธาน LEE ได้ขอให้นายฟุกุดะเขียนรายงานจากการคุยกันและยื่นส่งให้ในเวลาต่อมา รายงานชิ้นนี้ได้รับการเรียกขานในเวลาต่อมาว่า “รายงานฟุกุดะ”
นายฟุกุดะ ชิเคโอะ รายงานเกี่ยวกับความเป็นไปของบริษัท SAMSUNG เทคโนโลยีที่จำเป็นต้องมีเพื่อการแข่งขัน ขบวนการผลิตสินค้า รวมไปถึงการบริการของแต่ละแผนกโดยเน้นลงไปที่ “ทัศนคติ” ที่แตกต่างกันไปในแต่ละแผนกที่ทำให้ SAMSUNG มีปัญหาในการบริหาร
ประธาน LEE สนใจเนื้อหาใน “รายงานฟุกุดะ” นี้มากถึงขนาดที่อ่านหลายรอบในระหว่างที่อยู่บนเครื่องบินที่กำลังมุ่งหน้าไปนครแฟรงค์เฟิร์ท เขาทบทวนสิ่งที่รายงานนี้พาดพิงถึง  กับสิ่งที่เขาเคยสั่งการไว้กับผู้บริหารระดับสูงของเขาในเรื่อง “การผลิตที่มีคุณภาพ” แล้วเห็นชัดเจนว่าผู้บริหารของเขามิได้ทำตามที่เขาสั่ง ด้วยความผิดหวัง  ทันทีที่ถึงโรงแรมในนครแฟรงค์เฟิร์ท เขายกโทรศัพท์ถึงสำนักเลขาธิการเพื่อให้อัดเทปเสียงของเขาที่เขากล่าวลงไปว่า …“ผมเน้นการบริหารคุณภาพมากี่ปีแล้ว  แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย  ให้ผู้บริหารระดับสูงทุกคนบินมาประชุมที่แฟรงค์เฟิร์ทด่วน  และต่อไปนี้ ผมจะแสดงให้พวกคุณดูเองว่า – การบริหารงานคุณภาพนั้นทำอย่างไร !”
หลังจากสำนักเลขาธิการเปิดเทปนั้นให้ผู้บริหารระดับสูงฟังแล้ว ทั้ง 200 คนก็รีบจับเครื่องบินไปแฟรงค์เฟิร์ทตามที่ประธาน LEE สั่งด้วยใจที่ระทึกว่าจะต้องเผชิญกับบรรยากาศที่ตึงเครียดอย่างแน่นอน !
 
ย้อนถอยหลังไปในปี 1992 ประธาน LEEเริ่มเห็นสัญญาณร้ายบางอย่างที่ทำให้ SAMSUNG อาจจะต้องสูญเสียบริษัทไป2-3 บริษัทซึ่งจะค่อยๆดึงให้ทั้งอาณาจักร SAMSUNG ที่ทำธุรกิจ 10 กว่าประเภท 30 กว่าบริษัทต้องล้มไปทั้งหมด (SAMSUNG มีธุรกิจในเครือมากมายในเกือบทุกอุตสาหกรรมเช่น SAMSUNG INSURANCE , SAMSUNG ASSURANCE ,
SAMSUNG SECURITY , โรงงานผลิตกระดาษ , อุตสาหกรรมสิ่งทอ , SAMSUNG  CONSTRUCTION , SAMSUNG  COMPUTER , SAMSUNG  ELECTRONICS มีผลิตภัณฑ์มากที่สุดคือผลิตอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด TV , จอ TV , เครื่องเสียง และอะไหล่ต่างๆ ,  กระจก ฯลฯ รวมทั้ง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทศูนย์อุตสาหกรรมหนักทั้งในประเทศเกาหลี และต่างประเทศ)
   

กำเนิด “การบริหารแนวใหม่ของ SAMSUNG”

วันหนึ่งในเดือน สิงหาคม-1993 ประธาน LEE ได้สั่งการให้นายปักกึนฮี หัวหน้าฝ่ายบริหารตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อรวบรวมเนื้อหาการบรรยายของประธาน LEE ในทุกๆที่ทั้งในและต่างประเทศ คณะทำงานรวบรวมได้ทั้งหมด 8,500 หน้ากระดาษ A4
หลังจากจัดหมวดหมู่เป็นที่พอใจแล้วเขาตั้งชื่อคู่มือดังกล่าวว่า “การบริหารแนวใหม่ของ SAMSUNG” และสั่งให้แปลเป็น 10 ภาษาตีพิมพ์เพื่อแจกจ่ายไปทุกสำนักงานทั่วโลก เพื่อให้พนักงานของ SAMSUNG ปฏิบัติตาม !
“คุณภาพ” หรือ “ปริมาณ” ?
ครั้งหนึ่งประธาน LEE เรียกผู้บริหารระดับสูง 10 คนเข้าพบที่ห้องทำงานของเขาในสำนักงานใหญ่ในกรุงโซล พวกเขาต้องตกใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อประธาน LEE ที่เคยเป็นคนเงียบๆตบโต๊ะดังปัง ! ก่อนที่จะพูดว่า
“ผมเน้นเรื่องคุณภาพมาตลอด แต่จากการติดตามของผม เห็นได้เลยว่าไม่มีใครปฏิบัติตาม พวกคุณต้องให้ผมทำอย่างไรพวกคุณจึงจะเข้าใจความสำคัญของมัน ไม่เห็นหรือว่าสินค้าของเราที่วางขายบนชั้นถูกร้านค้าวางกองไว้อย่างไม่แยแส แยกออกจากสินค้าของ SONY , MOTOROLA ฝุ่นเกาะจนหมดราศี ไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ ? บอกมาเดี๋ยวนี้ว่าพวกคุณคิดอะไรอยู่ !”
หลังจากอึ้งและมองหน้ากันพักใหญ่ นายลีซูบิน หนึ่งใน 10 ผู้บริหารก็กล่าวตอบว่า :
  “เราไม่สามารถทิ้งเรื่องปริมาณการผลิตของเราได้ครับท่านประธาน หากเรามัวเน้นแต่คุณภาพเราก็จะไม่ได้ยอดซึ่งสำคัญกับต้นทุนต่อชิ้นของเรา คุณภาพและปริมาณเป็นคนละเรื่องกันครับ”
คำตอบของลีซูบินที่ตอบอย่างใสซื่อนี้ทำให้ประธาน LEE โกรธจัดถึงขนาดขว้างช้อนกาแฟในมือลงบนโต๊ะ และกระแทกประตูที่ห่างออกไป 5 เมตรอย่างแรงก่อนที่ท่านจะออกจากห้องไป  ปล่อยให้ผู้บริหารทั้งหมด 10 คนนั่งหน้า ซีดอยู่ในห้องอยู่นานจนมั่นใจว่าท่านประธานไม่กลับมาแน่นอนแล้วจึงแยกย้ายกันไปทำงานต่อ
เหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับการกล่าวขานว่า “Teaspoon case”

 

อืมม … เริ่มเข้มข้นขึ้นมาแล้วใช่ไหม ?

คราวหน้า เราไปติดตามกันต่อว่าท่านประธาน LEE ของเรามีวิธี “ปลุก” คนทั้งบริษัทให้ตื่นจากการหลับใหลด้วยวิธีอะไร ??

พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management