ไมนด์
 

 

เรื่อง : รศ . ดร . ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร์

 
 
  ณ ริมบึงแห่งหนึ่งอันกว้างใหญ่
ของปฐมสุวรรณธานี เป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์หลายชนิด มีเรื่อง เล่าว่าบึงแห่งนี้มีอายุยาวนานเก่าแก่ มากถึงเกือบ 200 ปี ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระพุทธเจ้าหลวง หรือสมเด็จพระปิยมหาราชของปวงชนชาวไทย ได้มี การขุดเพื่อสร้างบึงนี้ให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำฝน
โดยมีการทดน้ำจากบึงขนาดยักษ์แห่งนี้ไปตามร่องน้ำลำคูเข้าสู่เรือกสวนไร่นาของราษฎรบริเวณทุ่งสองห้องและทุ่งสีกัน ปริมณฑลทุ่งนาที่ได้รับน้ำจากบึงนี้มาหล่อเลี้ยงกินอาณาบริเวณหลายหมื่นไร่
   
นอกจากประโยชน์ทางด้านการเกษตรแล้ว  
ประชาชนผู้อาศัยอยู่ชานเมืองกรุงเทพมหานครฝ่ายเหนือดังกล่าว ยังได้ใช้น้ำจากบึงสำหรับการอุปโภคบริโภค ในครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเมื่อเกิดฤดูแล้งน้ำ ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำในบึงจะลดลงบ้างใน ช่วงหน้าแล้ง แต่ก็ไม่เคยเหือดแห้งตั้งแต่มีบึงแห่งนี้มาเป็นเวลานาน  
 
 
 
   
   
   
   
   
  ปัจจุบัน ท้องทุ่งนารอบๆ
บึงแห่งนี้ ได้เปลี่ยนสภาพไป โดยได้กลายเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเสียส่วนมาก จนแทบไม่เหลือให้เห็นความเป็นท้องนาที่มีมาแต่เดิมเลย หมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นรอบๆ บึงแห่งนี้ หลายหมู่บ้าน บ้านสวยๆ นับร้อยๆ หลังงอกงามแทนต้นข้าวกล้า อรรถประโยชน์ของบึงก็จึงได้ เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและความต้องการของชุมชน
บริเวณบึงแห่งทุ่งสองห้องได้กลายเป็นสวนสาธารณะ ความเย็นจากน้ำ ความชุ่มชื่นของอากาศ ความเขียวขจีของพรรณไม้รอบๆ บึง นำมาซึ่ง ความรื่นรมย์แก่ชุมชนแห่งนี้ อนึ่ง สัตว์น้ำและพืชพรรณไม้น้ำ ทั้งหลากหลายชนิดที่อยู่ในบึงก็ได้ กลายเป็นอาหารสำหรับผู้ยากไร้ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการหมู่บ้านผู้ดูแลบึงแห่งนี้ ได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้บริเวณแห่งนี้เป็นเขตอภัยทาน แต่ดูว่าเป็นการยากลำบาก บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งมิได้ ต้องการอาหาร แต่ต้องการความบันเทิง กีฬาตกปลา โดยเบ็ดราคาแพงเกินกว่าราคาปลาเป็นอันมาก ก็เห็นได้อย่างสม่ำเสมอที่บึงแห่งนี้ด้วยเช่นกัน อาณาเขตรอบๆ บึงจึงกลายเป็นสถานที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และเหมาะสมมากสำหรับการออกกำลังกาย ตลอดจนการจับสัตว์น้ำ วันหนึ่งๆ มีผู้คนมาใช้บริเวณแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ปัญหาที่ติดตามมาก็คือ มลภาวะอันเกิดแต่ฝีมือมนุษย์ผู้ได้อาศัยประโยชน์จากธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ไม่เคยตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ แต่กลับมีพฤติกรรมกระทำการล้างผลาญธรรมชาติ ทั้งที่รู้และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยความมักง่าย เห็นแก่ตัว และภาวะการขาดจิตสาธารณะ (Public Spirit) ขยะสารพัดรูปแบบหล่นเกลื่อนอยู่ทั่วไป ถังขยะที่คณะกรรมการผู้ดูแลจัดหามาก็ถูกขโมย ต้นไม้ถูกทำลายเหยียบย่ำ ฯลฯ
     
ด้วยจิตอันเป็นกุศล คณะกรรมการหมู่บ้านผู้เสียสละได้ร่วมใจกันจัดทำความสะอาดรอบบึงแห่งนี้เดือนละครั้ง โดยประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากชุมชนผู้ใช้บึงแห่งนี้มาช่วยกันเก็บขยะ ฯลฯ สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีจำนวนมากหลากหลายวัย ตั้งแต่เด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงผู้สูงอายุ มาช่วยงานกันตั้งแต่เช้าก่อน 6 นาฬิกา จิตสาธารณะเช่นนี้น่าชื่นชมอย่างยิ่ง คำว่า “ จิตสาธารณะ ” นี้ อาจารย์สมศรี สุกุมลนันท์ บุตรีของพระยาอนุมานราชธน เป็นผู้ริเริ่มใช้เพื่อแทนคำในภาษาอังกฤษว่า Public Spirit
     
การอยู่ร่วมกันในสังคมของชุมชน จิตสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ อย่างน้อยที่สุดเราน่าจะได้แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติแห่งสุภาพบุรุษผู้มีจิตใจดีงามในพฤติกรรมพื้นฐาน เช่น
     
1. การเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ความไม่เห็นแก่ตัวจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ความเสียสละที่พึงมีต่อสังคม บางครั้งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การบริจาคทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น การให้เวลาช่วยสังคมในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ช่วยทำความสะอาดสาธารณสถานก็เป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งทำได้ไม่ยาก แต่ที่สำคัญก็คือนอกจากจะไม่ช่วยเขาเก็บขยะแล้ว บางคนยังทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ไปนั่งที่ไหนก็สกปรกที่นั่น บางคนไม่ช่วยรักษาสมบัติของสาธารณะ แต่ชอบทำลาย เช่น หักต้นไม้ ทำลายโต๊ะ เก้าอี้ รั้ว ขโมยถังขยะ ฯลฯ
     
2. ความมีน้ำใจต่อผู้อื่น คุณสมบัติข้อนี้จำเป็นมากสำหรับความเป็นสุภาพบุรุษ “ น้ำใจ ” เป็นสิ่งที่ผู้รับหรือผู้ที่ได้พบเห็นชื่นชมและประทับใจเสมอ พฤติกรรมการกระทำที่แสดงให้เห็นความมีน้ำใจ ก็อย่างเช่น ความช่วยเหลือที่เรามอบให้ผู้อื่นด้วยความจริงใจ โดยมิได้หวังผลตอบแทน การช่วยพาเด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนตาบอดข้ามถนน การช่วยงานของชุมชนเพื่อกระทำความดีดังที่ได้เล่ามาแล้วข้างต้น หรือแม้กระทั่งการช่วยดูแลประตูหรือลิฟต์ให้แก่ผู้ใช้ที่ตามมาข้างหลังเรา ล้วนเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นความมีน้ำใจ และความเป็นสุภาพบุรุษทั้งสิ้น บุคคลผู้แล้งน้ำใจบางคนไม่เคยนำพาในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เลย
     
3. ความรู้ในเรื่องหน้าที่และสิทธิของตัวเอง คนบางคนที่เห็นแก่ตัวและเห็นแก่ได้ มักมองเห็นเฉพาะแต่สิทธิของตนเอง และมักเรียกร้องสิทธิให้แก่ตนเองเสมอ โดยมิได้คำนึงถึงหน้าที่ที่พึงกระทำอันสืบเนื่องจากสิทธิที่ตนเองมีอยู่นั้นเลย สวนสาธารณะเป็นของชุมชน ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้ามาใช้เพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนเองได้ เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อน หรือแม้กระทั่งเป็นแหล่งให้หาอาหาร ทว่าน้อยคนที่จะตระหนักในหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันดูแลเอาใจใส่ ทะนุบำรุงให้สวนสาธารณะนั้นพัฒนา ดีงามขึ้นกว่าเดิมยิ่งๆ ขึ้นไป สุภาพบุรุษผู้มีเกียรติและจะได้รับการยกย่องจากสังคมโดยทั่วไป ย่อมต้องกระทำหน้าที่ที่มีมาพร้อมกับสิทธิทางด้านต่างๆ ให้เป็นที่ประจักษ์
     
4. ความเคารพในสิทธิของผู้อื่น บุคคลผู้มีความเห็นแก่ตัวสูงมักไม่เคารพในสิทธิของผู้อื่น พฤติกรรมที่แสดงให้เห็นความบกพร่องแห่งความเป็นมนุษย์ในข้อนี้ก็อย่างเช่น การกระทำทุกชนิดที่ปราศจากความเกรงใจผู้อื่น สวนสาธารณะมิใช่สถานที่อันเป็นส่วนตัว การส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น การนำสัตว์เลี้ยงมาปลดเปลื้องของเสียบนทางเท้าที่ผู้อื่นต้องสัญจร การกระทำทุกอย่างที่เป็นการเบียดเบียน หรือรบกวนผู้อื่นโดยไม่มีเหตุจำเป็นควรละเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังอยู่ในบริเวณที่เป็นสาธารณสถาน
     
5. ความมีวินัยในตนเอง ความสำเร็จในการดำเนินชีวิตส่วนตัว และในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น หรือการประกอบอาชีพเกิดขึ้นได้โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ ความมีระเบียบวินัยในตนเอง เรามักสังเกตเห็นคุณสมบัติข้อนี้ของคนบางคนได้ตั้งแต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้นไป เช่น การจัดโต๊ะทำงาน การจัดเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน ความสะอาด ความตรงต่อเวลา การจัดระบบข้อมูลที่มีระเบียบ การดูแลขยะของเสียต่างๆ ของตนเอง ในส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกับสาธารณชน อย่างเช่น การกระทำสิ่งต่างๆ ที่ “ ถูกที่ถูกทาง ” เสมอ บางคนวิ่งออกกำลังกายอย่างชนิดสะเปะสะปะ โดยไม่สังเกตว่าผู้อื่นส่วนมากเขาอยู่ในเส้นทางด้านใดของถนน การจอดรถในบริเวณที่ควรจอด และการทิ้งขยะในที่ที่เหมาะสม เป็นต้น
     
6. การมองโลกในแง่ดี จิตสาธารณะ (Public Spirit) ส่วนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นได้เนื่องจากทัศนคติที่เป็นบวกต่อบุคคลอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อผู้อื่น ความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ตลอดจนความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ย่อมนำมาซึ่งความสุขใจ ความเสียสละเพื่อส่วนรวมคงเกิดขึ้นไม่ได้หากเรามองโลกในทางลบ ไม่เคยเห็นแก่ใคร และไม่เคยคิดจะช่วยอะไรใคร เนื่องจากไม่ชอบ เกลียด หมั่นไส้ ระแวง คนอื่นแทบตลอดเวลา
     
     
     
ความสุขที่แท้จริงประการหนึ่งเกิดจาก “ การให้ ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อันเนื่องมาแต่ความมีจิตสาธารณะที่มิได้หวังผลตอบแทน ... สวัสดีครับ
     
    จากโพสต์ทูเดย์ 17-8-49