THE TOYOTA WAY
แปลโดย :ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
 
ตอนที่13 : หลักการข้อที่ 4 : –การแก้ไขปัญหารากเหง้าต่างๆอย่างต่อเนื่องช่วยผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ขององค์กร
ลงไปคลุกคลีกับปัญหาด้วยตนเองเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างถ่องแท้ (Genchi Genbutsu) :เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ TOYOTA เปิดโรงงานที่ Georgetown ,
Kentucky ใหม่ๆ เหล่าผู้บริหารชาวอเมริกันมักจะเห็นFujio Cho ประธานคนแรกของโรงงานยืนดูการปฏิบัติงานอยู่เป็นนิจ บ่อยครั้งจะนิ่งจนเหมือนหุ่นขี้ผึ้งที่มองไม่เห็นผู้จัดการคนอื่นๆที่เดินเข้ามาทักทายเก้อ บ่อยครั้ง Cho จะถูกกระเซ้าว่าทักแล้วทำเป็นไม่ได้ยินCho ตอบว่า “เหรอครับ ขอโทษด้วยนะ เพราะผมไม่เห็นคุณจริงๆ กำลังสังเกตการทำงานของคนงานอยู่ว่าดูผิดปกติอะไรบางอย่าง ผมว่าเราไปถกกันในโรงงานด้วยกันเถอะ !” ว่าแล้วก็พาผู้จัดการคนนั้นไปดูสิ่งที่เขาคิดว่า – น่าจะปรับให้ดีขึ้น


Cho มักจะบอกเหล่าผู้จัดการของเขาว่า สิ่งที่เขาจะเฝ้าดูเป็นพิเศษคือ :
1-ทุกคนดำเนินการตามลำดับขั้นตอนมาตรฐานหรือไม่ ?
2-การดำเนินงานไหลเรียบ และเป็นแบบ Just-in-Time หรือไม่ ?
3-มีการใช้ Andon เมื่อพบสิ่งผิดปกติหรือไม่ ?
4-ผู้นำกลุ่มได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่มีการดึง Andon ในเวลาที่กำหนดหรือไม่ ?
5-การแก้ไขปัญหาสมบูรณ์เบ็ดเสร็จหรือไม่ ?

Cho เป็นผู้หนึ่งที่ได้ “สายดำ” ในเรื่อง TOYOTA WAY เขาทราบว่า - รายงานที่เขาได้รับจากผู้จัดการต่างๆไม่มีทางที่จะรวบรวมรายละเอียด – ที่สำคัญยิ่ง -เท่ากับการลงมาสังเกตการณ์ด้วยตนเอง !
และ “ความอยู่รอด” ของบริษัทฯก็ขึ้นกับ “สิ่งที่ไม่อยู่ในรายงาน” เสียด้วย !
Genchi Genbutsu : คือการลงไปคลุกคลีกับหน้างานเพื่อพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ
“ไม่ใช้การเดา !”
“ไม่ใช้การฟังเขาว่า !”
แม้ TOYOTA จะส่งเสริมการให้เกียรติรับฟังความเห็นจากทุกคนเวลาทำงานเป็น Team แต่ ….ก่อนจะถกปัญหาด้วยกัน ทุกคนต้องไปดูปัญหาให้เห็นกับตา ให้เข้าใจถ่องแท้ก่อน จึงค่อยล้อมวงคุยกัน !
   
ก่อนที่จะพาเข้ารกเข้าพงจากคนๆเดียวเพียงเพื่อจะมารู้หลังเสียเวลาไป 2 ชั่วโมงว่า เข้าใจไปคนละทาง !
ทุกคนก่อนเข้าประชุมต้องเข้าใจปัญหาดี ได้เตรียมข้อมูลที่ครบถ้วน แล้วจึงเข้าประชุม !
ไม่มีใครที่จะมีสิทธิ์เข้าประชุมด้วยมือเปล่า พยักหน้าหงึกๆทั้งที่ไม่รู้จริง หรือพยักหน้าตามหัวหน้าโดยไม่กล้าแย้ง !
 
 
TOYOTA ส่งเสริมการประชุมที่มี “คุณภาพ” ดังนี้ :
1-ทุกคนเห็น และ เข้าใจปัญหาลึกซึ้ง
2-ทุกคนหยิบประสบการณ์และข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาคุยแลกเปลี่ยนกัน
3-ผู้นำกลุ่มให้เกียรติลูกทีมด้วยการ “ตั้งใจฟังเพื่อให้เข้าใจผู้พูด” ไม่ใช่ “แค่ได้ยิน”
4-ที่ประชุมสามารถสรุปวิธีแก้ไขปัญหาด้วยความเห็นชอบตามเหตุผลและข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่สุดไม่ว่าทางออกจะมาจากข้อมูลจากคนระดับไหนก็ตาม
5-ทุกคนถือผลประโยชน์ของบริษัทฯเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ “อัตตาของตนเอง” เป็นที่ตั้ง
 
Yamashina หนึ่งในผู้บริหารของ TOYOTA ในอเมริกาได้รวบรวมหลักการ 10 ประการในเรื่องของ “การเห็นปัญหาอย่างลึกซึ้งด้วย-ตา และ ปัญญา” ไว้ดังนี้ :
1.พยายามระลึกถึงเป้าหมายสุดท้ายไว้ในใจอยู่เสมอ
  วางแผนอย่างรอบคอบเพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของคุณ
  มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนสำหรับการประชุม
2. มอบหมายงานอย่างชัดเจนให้กับตัวคุณเองและให้กับผู้อื่น
3. คิดและพูดโดยยึดถือข้อมูลและสารสนเทศที่ผ่านการพิสูจน์และยืนยันความถูกต้องแล้ว
  ลงพื้นที่และยืนยันความถูกต้องของข้อเท็จจริงด้วยตัวคุณเอง (Genchi Genbutsu)
  รับผิดชอบต่อข้อมูลต่างๆที่คุณได้รายงานออกไปให้ผู้อื่นทราบ
4.ใช้สติปัญญาและประสบการณ์ของผู้อื่นให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อนำส่ง รวบรวม หรืออภิปรายข้อมูลต่างๆ(รูปแบบของ (Genchi Genbutsu)
5. แบ่งปันข้อมูลของคุณให้กับผู้อื่นในเวลาที่เหมาะสม
  พิจารณาอยู่เสมอว่า ใครจะได้ประโยชน์จากการได้รับข้อมูลนั้น
6.รายงานผล แจ้งให้ทราบและปรึกษาหารือ(Hou/Reng/Sou) อย่างสม่ำเสมอตามเวลาที่เหมาะสม
7.วิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อบกพร่องต่างๆเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานของคุณด้วยแนวทางที่วัดผลได้
  สำรวจทักษะต่างๆและความรู้ที่คุณจำเป็นต้องใช้เพื่อพัฒนาตัวคุณเองยิ่งขึ้นไป
8. มุ่งมั่นอย่างเคร่งครัด เพื่อปฏิบัติกิจกรรมต่างๆในด้าน Kaizen
9. “ คิดนอกกรอบ” หรือเหนือสามัญสำนึกและกฎระเบียบมาตรฐาน
10.ใส่ใจอยู่เสมอในการรักษาความปลอดภัยและสุขภาพของคุณ

 

วงกลมของ Ohno
ในโรงงานของ TMC (Toyota Motor Manufacturing) ที่อเมริกาเหนือ มีตำนานสุด Classic เรื่องหนึ่งที่เล่าโดย Teruyuki Minoura ประธานคนต่อจาก Fujio Cho เกี่ยวกับ “วงกลม” ดังนี้ :
Minoura : คุณ Cho ให้ผมวาดวงกลมขึ้นมาหนึ่งวงในพื้นที่โรงงาน แล้วเขาบอกผมว่า “ขอให้คุณยืนอยู่ในวงกลมนี้ แล้วมองดูขบวนการผลิตและคิดพิจารณาด้วยตัวคุณเอง” จากนั้นเขาก็เดินจากไปโดยไม่พูดอะไรอีกเลย
Dr.Liker : แล้วคุณยืนอยู่นานเท่าไหร่ ?
Minoura : 8 ชั่วโมง !
Dr.Liker : 8 ชั่วโมง?
Minoura : ตอนเช้าคุณ Cho ขอให้ผมยืนในวงกลมนั้นจนกว่าจะถึงมื้อค่ำ เมื่อตกค่ำ คุณ Cho ก็เดินมาถามผมว่าเห็นอะไรบ้าง แน่นอนผมก็ตอบกลับไป (หลังจากใคร่ครวญแล้ว) ว่า “มีปัญหามากมายที่ผมเห็นในวงกลมนั้นที่ต้องพัฒนาครับ” คุณ Cho มองไปรอบๆอยู่พักหนึ่งก่อนที่พูดสั้นๆว่า “กลับบ้านกันเถอะ !”
Dr.Liker : จริงๆแล้วคุณ Cho กำลังสอนอะไรคุณหรือ ?
Minoura : ผมรู้ด้วยตนเองหลังจากนั้นว่า เขากำลังสอนให้ผมรู้จักกับ “พลานุภาพของการสังเกตการณ์อย่างลึกซึ้ง”
“สังเกตการณ์ …. ตั้งคำถาม …. วิเคราะห์ …. และ ประเมิน”
“สังเกตการณ์ …. ตั้งคำถาม …. วิเคราะห์ …. และ ประเมิน”
“สังเกตการณ์ …. ตั้งคำถาม …. วิเคราะห์ …. และ ประเมิน”
 
“แม้ข้อมูลจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราใช้ในการตัดสินใจ …. แต่ว่า เราอย่าไปหลงประเด็นว่า – ข้อมูล – เป็น - ข้อเท็จจริง เสมอไป ! ”
“ข้อเท็จจริง – อาจจะไม่ปรากฏอยู่ในข้อมูล หากแต่ต้องมาจากการลงพื้นที่สังเกตการณ์เท่านั้น !”


 

พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management