ท่านผู้เจริญ
 
ชีวิตรื่นรมย
คำทักทายนี้ เป็นที่นิยมใช้ในสมัยโบราณ โดยเฉพาะหากเราเป็นผู้ที่ชอบติดตามชมภาพยนตร์แบบย้อนยุค สมัยเก่า เราก็คงได้ยินคำทักทายหรือการเรียกขานผู้อื่นกันว่า ท่านผู้เจริญ.. แต่สงสัยหรือเปล่าครับว่า เจริญอะไร หรือว่าเจริญอย่างไร และเราเป็นผู้เจริญกับเขาด้วยหรือไม่ ? วันก่อน ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิณัฎฐ์ กิติพันธุ์ ได้เมตตามาให้ความรู้ที่ชมรมคนรู้ใจ โดยพูดถึงความหมายของผู้เจริญน่าสนใจมากครับ!
 
ีคำว่าท่านผู้เจริญนี้ ไม่ได้ หมายถึง เจริญในลาภยศสรรเสริญ ฐานันดรหรือความมีหน้าตาในสังคม แต่หมายถึงเป็นผู้ที่มีความเจริญใจอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยมีพื้นฐานมาจากการปฎิบัติธรรมนั่นเอง คนสมัยโบราณถึงนิยมเรียกขานผู้อื่นว่า ท่านผู้เจริญ เพื่อเป็นการเตือนกันและกันให้เจริญสติ เจริญใจให้งอกงาม
 
 
อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่า การทำสมาธิและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการทำให้เรารับรู้สภาวะของใจ ให้ใจได้เรียนรู้ว่าเรากำลังทุกข์หรือสุข หากเรารู้สึกทุกข์ ทุกข์นั้นเกิดจากสิ่งใดการเจริญสติทำให้เราสังเกตได้ว่าอาการใดบ้างที่ปรากฎขึ้นในใจ ส่วนอารมณ์คือสิ่งที่ทำให้เราเตลิด ทั้งความยินดียินร้าย ดังนั้น การเจริญสติก็คือ การทำให้ใจเจริญงอกงาม อันจะช่วยให้เรามีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตปัจจุบันมากขึ้น
การต้องวนเวียนอยู่ในสภาวะทุกข์ทำให้ชีวิตไร้ค่า แต่หากถ้าเรามีปัญญาที่เบิกบาน รู้เท่าทันปัญญา สิ่งที่มาเบียดเบียนใจก็จะมีน้อย การฝึกใจให้รู้เท่าทัน ทำให้ใจโปร่งเบาสบาย เพราะสภาวะของใจที่แท้ต้องตั้งอยู่บนฐานของ “สิ่งที่กำลังรู้สึก” มิใช่ไปโน้มเอียงอยู่ใน “สิ่งที่เคยรู้สึก” เคยปรารถนาหรือเอาเรื่องเก่าที่ค้างคากลับมาสู่ใจและในขณะที่เราเจริญสติ ก็อย่าได้เพลิดเพลินตามอารมณ์ ความคิด แต่ให้อ่านใจตลอดเวลาว่าอะไรครองอยู่นั่นคือ อารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมทั้งหลายกำลังครอบครองใจเราอยู่หรือไม่และมันควรอยู่ตรงนั้นหรือไม่?
   
นอกจากนี้ เรายังควรแผ่เมตตาด้วยจิตปรารถนา ด้วยทาน ศิล ภาวนา ที่ได้ปฎิบัติ เพื่อแผ่ไปยังบิดามารดาญาติสนิทมิตรสหาย บรรพบุรุษผีสาง เทวดา เพื่อนมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน สัมภเวสี โดยในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานต้องสำรวจดูว่าใจสงบ สะอาดเพื่อให้รู้ถึงการกระทำ พฤติกรรม กิริยา คำพูดของเราว่าดีหรือชั่ว เราพูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียดหรือไม่ เพราะถ้าใจเราสะอาด เราก็จะปฎิเสธสิ่งสกปรกเอง
การที่เรานึกกังวลในเรื่องใด ก็เพราะเรารู้สึกเอาว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา การเจริญสติ คือ การทำให้ใจเจริญขึ้นด้วยความสะอาด สงบ รู้ทันในสิ่งบีบคั้นที่ทำให้ใจหวั่นไหว และยอมรับได้ในสภาวะสามแบบ ได้แก่
1. การเสื่อม
2. การถูกช่วงชิง
3. การไม่อยู่ในสภาพที่พอใจ

   
การปล่อยให้ใจถูกครอบครองด้วยความไม่เป็นจริงและการติดอยู่ที่ความพอใจ จึงเป็นภาระแห่งการแบกทุกข์นั่นเอง ดังคำกล่าวที่ว่า คนโง่เท่านั้นที่เป็นทุกข์ คนฉลาดที่มีปัญญารู้เท่าทันความจริงจะเห็นทุกข์ แต่ไม่เป็นทุกข์
การเฝ้าดูจิต คือ การจำกัดวงกรอบของทุกข์ ทำให้เรารู้ว่าอะไรคือสภาวะที่เกิดอยู่ในจิตขณะนี้ ดังนั้น หากใครไปฟังธรรมแล้วง่วงหรือเผลอนั่งหลับรู้หรือไม่ว่ากำลังขาดทุน และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะญาติธรรมคนที่ว่ามีแต่ศรัทธา แต่หาได้มีปัญญาไม่ การหมั่นเจริญสติด้วยจิตที่เป็นกุศล จึงเป็นทางออก ทำให้ใจเบ่งบาน อิ่มเอม มีปิติมาคอยประคับประคองใจอยู่เสมอ
เราจึงได้ชื่อว่า ท่านผู้เจริญ
โดย...ดนัย จันทร์เจ้าฉาย