ชัชชาติ’ รมช.คมนาคม เร่งขันนอต ชี้วัดประสิทธิภาพผู้บริหาร

 

 

จากพื้นฐานโครงสร้างกระทรวงคมนาคม ที่หลาย ๆ คนมองว่า อยู่ในหน่วยของการก่อสร้าง เกี่ยวพันกับเงินมูลค่ามหาศาล มีโครงการก่อสร้างนับหมื่น นับแสนล้านบาทอยู่ในความดูแล แต่ก็ไม่สามารถมองข้าม หน้าที่ในการให้บริการประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาลุกลามใหญ่โตได้ และในมุมมองของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม เห็นว่า ปัญหาเล็ก ๆ เหล่านั้น คือการแสดงถึงความไม่ใส่ใจของผู้บริหารหน่วยงาน ดังนั้น รัฐมนตรีของกระทรวงคมนาคมจึงเห็นชอบให้มี “โครงการขันนอต 100 ปี” สอดคล้องกับโอกาสที่กระทรวงคมนาคมมีอายุครบ 100 ปี ในปีนี้
 

หลักการของโครงการขันนอต

 
ประชาชน คือ เจ้านายของเรา ต้องการให้กระทรวงคมนาคมปรับปรุงในหลาย ๆ ส่วน ซึ่งหน้าที่ของผมในฐานะรัฐมนครี คือ ต้องให้บริการเจ้านายเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสน้อย จึงได้ให้หน่วยงานทั้งหมดไปดูว่า การบริการพื้นฐาน ที่ไม่ใช่โครงการหมื่นล้านพันล้านบาท แต่ประชาชนต้องการให้ปรับปรุงอย่างตรงใจมีอะไรที่ทำได้เลย ก็ลุยเลย งานใดที่ไม่ต้องใช้เงินและสามารถปรับปรุงคุณภาพ ต้องเห็นผลโดยเร็วภายใน 6 เดือน
 
ต้องขอย้ำว่า โครงการเหล่านี้จะไม่ใช่โครงการแบบจุดพลุ แต่ต้องเป็นโครงการที่หน่วยงานต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยจะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พ.ค. นี้ คาดว่าน่าจะเป็นการจัดนิทรรศการบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสัก 2 สถานี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กดไลค์์ หรือเสนอแนะได้เพราะกระทรวงฯ ต้องการฟีดแบ็ก ขณะนี้แต่ละหน่วยงานได้เสนอแผนงานเข้ามาแล้ว แต่อาจจะต้องปรับปรุงให้เชื่อมต่อกับมวลชน
 

แผนงานที่แต่ละหน่วยงานเสนอมา

 
กระทรวงฯ จะกำหนดว่าแต่ละหน่วยงานจะต้องเสนอแผนงานมาหน่วยงานละ 3 โครงการ ซึ่งเท่าที่ดูจะต้องเพิ่มเติมแผนให้ชัดเจน เช่น กรมทางหลวง (ทล.) เสนอโครงการกรมทางหลวงใส่ใจ ความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง ซึ่งได้แนะนำว่า จะต้องเน้นให้ชัดเจน ให้ระบุโครงการแบบผนการทำงานอย่างละเอียด และให้เพิ่มการจัดทำจุดพักรถ ทุก ๆ 200 กม. ว่าอยู่ตรงไหน
 

รวมทั้งเพิ่มเรื่องประเมินคุณภาพผู้รับจ้าง เพราะผู้รับเหมาทำงานออกมาแล้วคุณภาพห่วย ทำให้มองได้ว่า มีการไปจ่ายใต้โต๊ะ หรือคอร์รัปชั่น ดังนั้นการประเมินนอกจากจะตรวจรับเวลาเสร็จงานแล้ว จะต้องตรวจสอบคุณภาพระหว่างการทำงาน

 
 
ความหมายในที่นี้ ไม่ใช่จะไปลดราคากลาง แต่ต้องการให้มีการตรวจสอบคุณภาพงาน
 
เช่นเดียวกันกับ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะต้องตรวจสอบคุณภาพผู้รับจ้าง ซึ่ง ทช.มีโครงการที่น่าสนใจ คือ กิจกรรมรายการวิทยุหมอทาง โดยขอเข้าไปมีส่วนร่วมกับวิทยุชุมชน เพื่อนแก้ไขปัญหาเส้นทางและสร้างความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งให้ความรู้แนะนำบทบาทหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม หน้าที่ของกรม รายงานความก้าวหน้าของงานก่อสร้าง เป็นต้น
 

หน่วยงานที่ประชาชนต้องสัมผัส

 
กระทรวงฯ มีหน่วยที่เป็น คอนเนกติง พอยด์ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมาก เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ขนส่ง (บ.ข.ส.) เป็นต้น
 

ในส่วนของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มีการติดต่อบริการประชาชนเยอะ ซึ่ง ขบ.มีกิจกรรมที่น่าสนใจ แต่ต้องการให้เพิ่มเรื่องการให้บริการตามที่ประชาชนต้องการ เช่น การต่อใบขับขี่ ต่อทะเบียนรถ หรือเพิ่มเซอร์วิส เซ็นเตอร์ โดยประชาชนไม่ต้องเดินทางมาที่กรม
                นอกจากนี้ ในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  ซึ่งจากการลงพื้นที่ เห็นว่าต้องปรับปรุงความสะอาดและจัดระเบียบบริเวณท่ารถ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ใช่ปล่อยให้เน่า “ถ้าต้นทางเน่า เหมือนไม่ได้ดูแล” ส่วนโครงการที่ ขสมก. เสนอมา เช่นโครงการ ซ้ายตลอด จอดทุกป้าย สร้างวินัยจราจร

 

“เป็นโครงการที่ดี ไม่ใช่รถเมล์อยู่เลนขวา แล้วมาปาดหน้ารถอื่น ซึ่ง ขสมก.สัญญาว่าจะทำ หากทำไม่ได้ ก็ต้องโดนเล่นงาน”

 
ขณะที่บริษัท ขนส่ง (บ.ข.ส.) ก็เช่นเดียวกับ ขสมก. เมื่อสถานีสกปรกคนจะรู้สึกว่า กระทรวงคมนาคมไม่เอาจริง ก็จะเริ่มมีกิจกรรมที่ผิดกฎหมายเพิ่มเข้ามา หากเราละเลยจุดเล็ก ๆ เช่นอาจจะมีพนักงานแต่งตัวไม่เรียบร้อย เริ่มมีรถผีเข้ามา เป็นจุดเริ่มต้นของความไม่ดี จึงได้สั่งการไปว่า ความสะอาด ต้องเนี้ยบ
 
 
 

 

“ผมเดินเข้าไปที่สถานีขนส่งหมอชิต พ้นประตูไป ไม่มีเจ้าหน้าที่ของเราเลย เมื่อให้สัมปทานเอกชนไปก็จบกัน ซึ่งไม่ได้ เช่น มอเตอร์ไซค์เข้า-ออก หมอชิตแพงมากต้องไปดูแล ปัญหาอีกอย่างคือการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋ว ซึ่ง บ.ข.ส. แก้ไข โดยเพิ่มการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์ แต่ผมมองว่า กลุ่มลูกค้า บ.ข.ส. ไม่น่าจะใช้ส่วนนี้ ต้องไปดู”

 

สิ่งที่หน่วยงานอื่น ๆ ต้องปรับปรุง

บางหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนหรือมวลชนมากนัก จะละไว้ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของประเทศ เช่น กรมการบินพลเรือน (บ.พ.) ค่อนข้างมีปัญหาเยอะ ติดข้อกฎหมาย จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการออกใบอนุญาต เพราะที่ผ่านมาใช้เวลาในการดำเนินการนานมาก จะต้องปรับปรุงเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเป็นศูนย์กลางการบินของไทย (ฮับ) บ.พ.จะต้องให้ให้ความสะดวก แต่คำนึงถึงความปลอดภัย
 
ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ เช่น บริษัท การบินไทย ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการขนกระเป๋า โดยใช้คีย์เวิร์ด “First bag-Last bag” ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที เป็นต้น และต้องเพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอินของการบินไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิให้มากขึ้น
 
บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เน้นให้ควบคุมความปลอดภัยและความสะอาดในพื้นที่ก่อสร้างในอาคารผู้โดยสาร เพิ่มป้ายบอกทาง และกวดขันเรื่องแท็กซี่ผีให้มากขึ้น กรมเจ้าท่า ให้ปรับปรุง เรื่องเรือด่วนเจ้าพระยา และเรื่องคลองแสนแสบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้โดยสารมากขึ้น เพราะเรือคลองแสนแสบประสิทธิภาพเท่ากับการขนส่งคนในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อเทียบกับเส้นทางที่คนเดินทาง
 
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะต้องจัดระเบียบที่ปรึกษา และต้องรับผิดชอบจุดเชื่อมต่อระหว่างโหมด หรือระบบขนส่งรูปแบบต่าง ๆ ให้ต่อเนื่องกัน การทางพิเศษแหน่งประเทศไทย (กทพ.) ให้เพิ่มการแก้ไขปัญหารถติดหน้าด่าน และการปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (อีซี่พาส)
 

“ทั้งหมดนี้เป็นโครงการที่ไม่ต้องใช้ตังค์ แต่ใช้สมองและใช้ความพยายามและต้องตอบโจทย์เบสิกที่คนต้องการให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ภายใน 6 เดือน พวกผู้บริหารก็ต้องรับผิดชอบ เข้าไปอยู่ในการประเมินผลผู้บริหาร ซึ่งผมจะเสนอ รมว.คมนาคม ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ 1 ชุด และต่อไปจะต้องมีโครงการใหม่ ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ ไม่ใช่เป็นโครงการชั่ววูบ”

 

 

พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management