THE TOYOTA WAY
แปลโดย :ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ตอนที่ 2 : กำเนิด Sakichi Toyoda  
 
 
Nagoya , ปลายศตวรรษที่ 18 …. หนูน้อย Sakichi Toyoda มีพ่อเป็นช่างไม้ เขาจึงมีใจรักงานช่างไม้ตามพ่อ พอดีรัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนั้นกำลังส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนทำอุตสาหกรรมทอผ้าเพื่อเสริมรายได้ของประชาชน Sakichi Toyoda จึงมีโอกาสฝึกฝนงานช่างไม้จนเชี่ยวชาญ จนสามารถสร้างเครื่องปั่นด้ายที่ทำจากไม้ที่ทำมีราคาถูกกว่า แต่ใช้งานได้ดีกว่ารุ่นที่ใช้อยู่มานาน
 
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นคนช่างสังเกตและสงสาร แม่ ย่า ที่ยังคงต้องใช้แรงกายในการทอผ้าเยี่ยงทาสด้วยความตรากตรำ Sakichi Toyoda ก็ยังไม่พอใจกับเครื่องรุ่นใหม่ของเขาเท่าไร เขาจึงมองหาแหล่งพลังงานใหม่ที่จะนำมาทอผ้าทดแทนแรงงานมนุษย์เขามองไปที่พลังงานจากไอน้ำที่กำลังถูกมองว่าเป็น “เทคโนโลยีใหม่” ในสมัยนั้น เขาลงทุนซื้อเครื่องจักรไอน้ำมือสองมาเครื่องหนึ่ง แล้งลงมือทดลองทำผิดทำถูกด้วยตนเองจนสามารถประดิษฐ์เครื่องทอผ้าด้วยเครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ !
และแล้ว ....ด้วยจิตวิญญาณของ “การทำกับมือ การเห็นด้วยตาตนเอง การลองผิดลองถูก

 

ในวันนั้นของ Sakichi Toyoda จึงถูกถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ THE TOYOTA WAY !
ในปี 1926 เขาได้ตั้งบริษัท Toyoda Automatic Loom Works ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทแม่ของ Toyota Group ซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญในกลุ่มเครือ Toyoda ในปัจจุบัน

   
Kiichiro ผู้เป็นบุตรชายของ Sakichi Toyoda ได้เขียนถึง “ผู้เป็นพ่อ” ว่า :
“พ่อแสดงความคิดที่แท้จริงในประเด็นต่างๆมากกว่าที่จะพึ่งสัญชาตญาณ พ่อมักชอบเพิ่มพูนความรู้และข้อมูลต่างๆก่อนที่จะตัดสินใจทำเครื่องยนต์ สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ พ่อทำเครื่องยนต์เล็กมาก่อน ดังนั้นพ่อจึงรู้เรื่องการทำชิ้นส่วนที่สำคัญอย่างดีมาแล้วจนมีความเชื่อมั่นมากจึงเดินหน้าทำงานในขั้นสูงขึ้นต่อไป สิ่งที่พ่อจะทำจึงมีคุณภาพสูงและมีความน่าเชื่อถือสูง”
 
 
Toyota มีช่วงเวลาที่ลำบากมากๆจนเกือบล้มละลายในปี 1948 ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งบริษัทมีหนี้สินเป็น 8 เท่าของเงินทุน แต่หลังจากทำทุกวิถีทางในการลดต้นทุนอยู่หลายปี Eiji Toyoda ผู้ที่ได้เป็นประธานบริษัทคนต่อมาได้นำเอาระบบการผลิตที่ได้มาจากการดูงานในโรงงานของ Ford และพัฒนามาเป็นระบบ Just-in-Time ของตนเองก็นำพาให้บริษัท ฯ รอดพ้นจากภาวะวิกฤติได้สำเร็จ !
ด้วยวิธีการขึ้นตัวถังรถยนต์แบบ Low Tech ที่ผลิตในปีแรกๆประมาณปี 1930 ที่ใช้ท่อนซุงใหญ่หนุนแล้วเคาะด้วยค้อนนั้น Eiji Toyoda ได้นำวิธีการขึ้นตัวถังของ Ford ด้วยการประดิษฐ์เครื่องจักรขึ้นรูปของตนเองผลคือได้ตัวถังที่เรียบร้อยและมีคุณภาพสูงขึ้น
 
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาส่ง W. Edwards Deming ไปญี่ปุ่นเพื่อช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมทุกด้าน Toyota ก็ได้รับเอาแนวคิด P-D-C-A ของ Deming มาใช้อย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็พลิกแพลงเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นในด้านการทำงานร่วมกันอย่างมีวินัยและสถานการณ์จำเป็นที่แพ้สงคราม ทำให้ต้องประหยัดเงินทุกส่วนทุกขั้นตอน ขบวนการ P-D-C-A ของญี่ปุ่นจึงถูกกำหนดว่าทุกคนต้องช่วยกันในระหว่างทำงานในการตรวจตราไม่ให้มีการสูญเสียแม้แต่ขั้นตอนเดียว !
W. Edwards Deming
 
และด้วย “ความจำเป็น” บวกกับ “ความมีวินัยที่ทำสิ่งที่ดี และถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ” นี้แหละที่ทำให้ Toyota Way มีความสมบูรณ์แบบในตัวเอง และแซงหน้า P-D-C-A ของอเมริกันต้นตำหรับที่จะทำ P-D-C-A เฉพาะในบางขั้นตอนเท่านั้น
เพราะอเมริกันยังมีความคิดอยู่ว่า “ยังรวยอยู่ ตกหล่นระหว่างทางนิดๆหน่อย ไม่เป็นไร !”
ขบวนการมีส่วนร่วมปรับปรุงงานของคนทุกระดับอย่างต่อเนื่องนี้นี่เองที่ต่อมาถูกเรียกชื่อเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลกว่า “Kaizen”

มาถึง ณ จุดนี้ เราได้เห็นวัฒนธรรมการบ่มเพาะคุณค่าที่ทำให้ Toyota ค่อยๆสะสมทีละเล็กทีละน้อยโดยเริ่มมาจากการที่ผู้บริหารจะต้องเติบโตมาจากการลงไปคลุกคลีกับงาน คลุกคลีกับปัญหา ใช้ข้อมูลและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยตนเองและจากคนอื่นแล้ว แนวคิดที่สำคัญอีกด้านหนึ่งที่หากไม่ได้กล่าวถึงเลยก็จะทำให้ไม่เข้าใจ “ตัวตน” ของ Toyota ที่แท้จริง แนวคิดนั้นก็คือ :“จิตวิญญาณของความท้าทาย (Spirit of Challenge): เรายอมรับความท้าทายต่างๆ์
ด้วยจิตวิญญาณที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และความกล้าที่จะสานฝันให้กลายเป็นจริงโดยไม่ย่อท้อ เราดำเนินงานของเราด้วยความกระตือรือร้นด้วยการมองโลกในแง่ดีและความยึดมั่นอย่างแท้จริงในคุณค่าที่เราได้ช่วยเหลือสังคม”
และยิ่งไปกว่านั้น :
“เรามุ่งมั่นที่จะกำหนดโชคชะตาของเราเอง เราดำเนินงานต่างๆโดยการพึ่งพาตนเอง เชื่อในขีดความสามารถของเราเอง เรายอมรับผิดชอบต่อความผิดพลาดในการดำเนินการและพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับปรุงทักษะต่างๆที่จะสร้างสรรค์คุณค่าที่เพิ่มขึ้นแก่เรา !”
นี่คือ Commitment ของชาว Toyota ในยุคบุกเบิก และแม้เวลาผ่านพ้นไปหลายทศวรรษ มันยังคงเป็นเสาหลักอยู่ใน Toyota Way อย่างไม่เสื่อมคลายมาจนถึงทุกวันนี้ !

 
 
คราวหน้าเราจะไปรู้จักกับปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ Toyota Way มีความยิ่งใหญ่เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วโลกให้ลึกซึ้งมากขึ้นนะครับ .
 
พิชัย  อรุณพัลลภ
Department of Quality Management