รองเท้าทอมส์ - สร้างเงินล้านจากการให้
 
โดย..ลภัสรดา  ภูศรี
 

“รองเท้าทุกคู่ที่คุณซื้อ เราจะ

บริจาครองเท้าอีกคู่ให้กับเด็ก

ที่ขาดแคลนไม่มีรองเท้าใส่”

 
นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักสโลแกนธุรกิจที่ไม่เหมือนใครนี้ของ “ทอมส์” ธุรกิจขายรองเท้าผ้าใบสวมใส่สบายของเลก มายคอสกี หนุ่มมะกันวัย 33 ปี ซึ่งกลายเป็นต้นแบบการทำ “ธุรกิจเชิงการกุศล” ที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่งในวงการธุรกิจเมืองลุงแซมไปแล้ว
 
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น “ทอมส์” เกิดขึ้นภายหลัง มายคอสกี หนุ่มเทกซัสที่ผ่านการเปิดธุรกิจมาแล้วอย่างโชกโชน จนล่าสุดมาเปิดโรงเรียนสอนขับรถไฮบริดในอาร์เจนตินา ได้พบจุดเปลี่ยน 2 เหตุการณ์ คือ
 

1. พบว่ารองเท้าผ้าใบที่คนท้องถิ่นใส่ทำการเกษตรนั้นมีน้ำหนักเบา สวมใส่สบายและทนทานอย่างไม่น่าเชื่อ
2. พบว่าเด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีรองเท้าใส่

 
จากสิ่งที่เห็นได้จุดประกายไอเดียธุรกิจใหม่ให้มายคอสกีนำรองเท้าผ้าใบสไตล์แปลกตามาดีไซน์ใหม่เพื่อออกขายในตลาดสหรัฐ โดยมีข้อแม้สำคัญว่า จะบริจาครองเท้าอีก 1 คู่ ให้กับเด็กที่ไม่มีรองเท้าใส่ทั่วโลก ในทุกๆ ครั้งที่บริษัทขายได้ 1 คู่
 
และในที่สุดก็ตกผลึกออกมาเป็นธุรกิจขายรองเท้าภายใต้แบรนด์ “ทอมส์” ที่ย่อมาจาก “ทูมอร์โรว์ ชูส์” หรือรองเท้าเพื่ออนาคตนั่นเอง
 
จาก “จุดยืน” นี้เอง ได้กลายเป็น “จุดขาย” ที่ทำให้ทอมส์กลายเป็น “จุดสนใจ” อย่างรวดเร็ว และแม้ว่ามายคอสกีไม่ได้เปิดเผยผลประกอบการที่แน่ชัดจากการขายรองเท้าทอมส์ หลายหลายสีสัน และรูปแบบ ทั้งชาย หญิง และเด็ก ในราคาตั้งแต่ 44-98 เหรียญสหรัฐ
 
ทว่า หากพิจารณายอดการจัดส่งรองเท้าให้แก่เด็กที่ขาดแคลนทั่วโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้นจากเมื่อปี 2552 ที่ 3 แสนคู่ แตะ 1 ล้านคู่ ใน 50 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2554 ก็อาจสรุปได้ว่า ทอมส์กำลังไปได้สวยทีเดียว
 
“ธุรกิจซื้อ 1 ให้ 1 ถือเป็นโมเดลการทำธุรกิจที่สมบูรณ์แบบที่สุด คือ นอกจากจะสร้างรายได้อย่างไม่ขาดสายแล้ว ยังถือเป็นการให้ที่ยั่งยืนกว่าการกุศลโดยตรง เพราะหากในวันเริ่มต้น ผมใช้เงินทุน 5 แสนเหรียญสหรัฐ ที่มีในการซื้อรองเท้าให้กับเด็กที่ขาดแคลน แทนการใช้เป็นทุนตั้งต้นก่อตั้งธุรกิจ ผมคงสามารถซื้อรองเท้าให้กับเด็กเหล่านั้นได้เพียงครั้งเดียว ไม่เหมือนกับสิ่งที่ทอมส์ทำในวันนี้” มายคอสกี กล่าว
 
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจแบบการกุศลยังไม่ไหวติงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกด้วย เห็นได้จากขณะที่ธุรกิจหลายแห่งต้องลดรายจ่ายด้วยการลดจำนวนพนักงานลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักเมื่อปี 2008
 
อย่างไรก็ตาม ทอมส์ยังคงจ้างแรงงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าเงินทุกบาทที่ซื้อรองเท้าทอมส์ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่ไม่เพียงแต่ได้สินค้าที่คงทนและใช้ประโยชน์ได้ดีแล้ว ยังได้คุณค่าทางใจที่จะส่งต่อประโยชน์ไปยังผู้ที่ขาดแคลนอีกด้วย
 
สำหรับเคล็ดลับการทำธุรกิจขนาดเล็กให้ประสบความสำเร็จ มายคอสกี แนะว่า ผู้ประกอบการทุกคนควรปฏิบัติ คือ 1. การสร้างสินค้าให้ “มีเรื่องราว” เพราะนั่นเป็นแนวทางการตลาดแบบปากต่อปาก ที่ผู้บริโภคจะเป็นคนโฆษณาและบอกต่อจุดเด่นของสินค้าให้เอง เช่นเดียวกับสตอรี “ซื้อ 1 ให้ 1” ของทอมส์
 
2. เผชิญหน้ากับความกลัว ด้วยการเริ่มต้นทำทีละนิด เพราะถ้าไม่เริ่มลงมือ ก็คงไม่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคได้ และ 3. ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอย่างคุ้มค่า ดังกรณีของทอมส์ที่เริ่มสร้างธุรกิจภายในอพาร์ตเมนต์ส่วนตัวของมายคอสกี โดยมีเด็กฝึกงานที่ประกาศหาผ่านสื่อออนไลน์เพียง 3 คน และใช้ห้องครัวเป็นห้องประชุม
 
“อย่าเสียเงินไปกับออฟฟิศแพงๆ แต่ควรทุ่มเงินส่วนนั้นไปกับการจัดทริปพักผ่อนให้กับพนักงานในบริษัทมากกว่า” มายคอสกี กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม มายคอสกี เตือนว่า รูปแบบธรกิจเชิงการกุศลแบบซื้อ 1 ให้ 1นี้ อาจไม่เหมาะกับธุรกิจทุกประเภท เพราะการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้วยการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาเพื่อการกุศล อาจเป็นการเพิ่มภาระของบริษัทไปโดยปริยาย
 
ดังนั้น สิ่งที่เจ้าของธุรกิจทำได้ คือ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์รูปแบบการ “ให้” ในรูปแบบของตัวเอง เช่น บริษัทบัญชีอาจให้คำปรึกษาด้านบัญชีหรือติดตั้งระบบจัดการบัญชีให้แก่องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายก็เป็นได้
 
“ไม่จำเป็นว่าช่วยเหลือมากหรือน้อยเพียงใด ขอแค่เพียงช่วยเหลือให้ตรงจุดด้วยกำลังเท่าที่มีก็เพียงพอแล้ว” มายคอสกี กล่าวทิ้งท้าย
 
 
พิชัย อรุณพัลลภ
Department of Quality Management
…where endless devotion is our commitment…